‘Netflix’ อัดงบเพิ่ม 2 เท่าโหมสร้าง ‘ออริจินอลคอนเทนต์’ ลุยตลาดเอเชีย

‘Netflix’ สตรีมมิ่งเบอร์ 1 ของโลกด้วยจำนวนสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านราย และจากนี้กำลังต้องการเพิ่มผู้ใช้ให้สูงขึ้นอีกด้วยการโหมทำตลาด ‘เอเชีย’ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด

เมื่อปีที่ผ่านมา Netflix มีผู้ใช้ใหม่จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 9.3 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยรายได้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเกือบ 62% ส่วนในยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริกาเพิ่มขึ้นเพียง 40%

จากการเติบโตดังกล่าว ทำให้ Netflix เริ่มจะรุกหนักไปยังตลาดเอเชียมากขึ้น โดยมีแผนจะเพิ่มงบประมาณเป็น 2 เท่าสำหรับการทำออริจินอลคอนเทนต์ในภูมิภาค โดยหวังว่าจะได้ลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และที่อื่น ๆ ส่วน ‘จีน’ ยังเป็นประเทศเดียวที่ Netflix ยังเจาะตลาดไม่ได้

“เราตื่นเต้นมากเกี่ยวกับศักยภาพของตลาดเอเชีย มีผู้คนหลายร้อยล้านคนที่เรายังคงพยายามหาวิธีที่ในการเชื่อมต่อและสร้างความบันเทิงให้กับเขา” Greg Peters ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Netflix กล่าว

เมื่อสามปีก่อน Reed Hastings ซีอีโอ Netflix เคยคาดการณ์ว่าผู้ใช้ 100 ล้านคน” คนจะมาจากอินเดียเพียงแห่งเดียว และนับจากนั้น บริษัทก็ได้เห็น “การเติบโตอย่างมาก” โดยตั้งแต่ปี 2018-2020 Netflix ใช้เงินประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์หรือผลิตเนื้อหาในเอเชีย และตอนนี้ได้รวบรวมคอนเทนต์ของเอเชียมากกว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีพนักงานประมาณ 600 คนทั่วภูมิภาค โดยมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ใช้ดึงดูดผู้ชมเอเชียไม่ใช่แค่คอนเทนต์ดัง ๆ จากฝั่งตะวันตกเท่านั้น แต่คือการปรับเนื้อหาให้เข้ากับผู้ชมในภูมิภาค ‘มิน ยองคิม’ ที่เข้าร่วมกับ Netflix ในปี 2016 ในฐานะผู้บริหารเนื้อหาคนแรกในเอเชีย ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานฝ่ายเนื้อหาของ Netflix ในเกาหลีใต้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ระบุว่า “รู้ดีว่าเนื้อหาในท้องถิ่นจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของธุรกิจในเอเชีย” เธอกล่าว

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจริง โดยในปีที่แล้ว ซีรีส์เกาหลีสามารถครอง 10 ซีรีส์ยอดนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ชมในภูมิภาคที่รับชมคอนเทนต์เกาหลีเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2019 ส่วนผู้ชมอนิเมะญี่ปุ่นในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 2 เท่า

ภาพจาก Facebook Netflix

ขณะที่ปัจจุบันคอนเทนต์เอเชียไม่ได้ดึงดูดแค่ผู้ชมในภูมิภาคเท่านั้น แต่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ “Alice in Borderland” ของญี่ปุ่น “Kingdom” และ “Indian Matchmaking” ของเกาหลีใต้ซึ่งถ่ายทำระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกาล้วนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั่วโลก

นอกจากนี้ บริษัทได้พยายามทำราคาให้ถูกลง เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเปิดแพ็กเกจเฉพาะมือถือ โดยเริ่มต้นในอินเดียและได้ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย รวมถึงได้เพิ่มคำบรรยายและการพากย์เสียงใน 35 ภาษาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีตลาดเอเชียขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ Netflix ยังไม่สามารถเจาะตลาดได้ก็คือ ‘จีน’ ซึ่งทางผู้บริหารเองระบุว่ายังไม่มีแผนที่จะเปิดให้บริการ

“ไม่มีอะไรที่ฉันจะบอกว่าฉันพอใจ เราต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เราพยายามเชื่อมโยงกับผู้คนมากมายทั่วโลก แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกคน ดังนั้น เราจึงมีงานต้องทำมากขึ้น”

Source