“วังจันทร์วัลเลย์” กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ โดยเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ และจะเป็นต้นแบบเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทย การจัดการภายในเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจึงต้องมี “วอร์รูม” ศูนย์กลางการรับข้อมูล มอนิเตอร์ และสั่งการ ซึ่งก็คือ “อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ” หรือ IOC แห่งนี้
สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นหูกับ “วังจันทร์วัลเลย์” พื้นที่นี้คือแหล่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขนาด 3,454 ไร่ ในตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดยระยอง พัฒนาโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายในประกอบด้วยโครงสร้างหลายส่วนที่จะสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของไทย สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศ
เมื่อเป็น “เมืองนวัตกรรม” แหล่งบ่มเพาะงานวิจัย ตัวเมืองเองจึงสร้างขึ้นบนพื้นฐานการจัดการอัจฉริยะเช่นกัน ทำให้วังจันทร์วัลเลย์มีองค์ประกอบภายในแบบ Smart City ครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Economy, Smart People, Smart Living, Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy และ Smart Governance องค์ประกอบเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดมาเป็นโครงสร้างภายในเมือง เช่น การติดโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาดกระจายไฟฟ้าไปทั้งโครงการ รถประจำทางพลังงานไฟฟ้ารับส่งภายในพื้นที่ เป็นต้น
การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะรูปแบบนี้ย่อมต้องมีดาต้ามหาศาล และต้องมีศูนย์กลางของระบบบริหาร ทำให้วังจันทร์วัลเลย์มีอาคารหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลระบบทั้งหมดโดยเฉพาะคือ “อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center หรือ IOC)”
IOC เป็นอาคารปฏิบัติการ 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,700 ตารางเมตร ยังไม่รวมพื้นที่ดาดฟ้าอีก 1,300 ตารางเมตร ภายในจะมีห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ และที่เป็นไฮไลต์ก็คือ “ห้องควบคุมปฏิบัติการ” (Control Room) ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นวอร์รูมแห่งวังจันทร์วัลเลย์ เป็นศูนย์กลางควบคุมให้ระบบในพื้นที่นี้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น
ระบบสุดไฮเทคภายในห้องควบคุมฯ ของ IOC
ภายในห้องควบคุมปฏิบัติการจะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้อย่างเต็มที่ ในแง่โครงสร้างพื้นฐาน ห้องนี้จะมี Video Wall สูงประมาณ 2.7 เมตร ยาวประมาณ 14.5 เมตร ซึ่งเกิดจากจอ LED ขนาด 55 นิ้ว จำนวน 48 ชุดเรียงต่อกัน และแน่นอนว่ามี Work Station ด้านหน้าจอเหล่านี้ให้กับพนักงานปฏิบัติการ (operators) ได้นั่งทำงานระหว่างวัน
ส่วนระบบที่มีการนำมาใช้งานเพื่อควบคุมเมืองอัจฉริยะ ได้แก่
o Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ แบบ Real-time เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบรวบรวมน้ำเสีย
o Energy Management System (EMS) : แสดงปริมาณการรับจ่ายสาธารณูปโภคแบบ Real-time โดยรับข้อมูลมาจาก Smart Meter ที่ติดตั้งใน Tie-in Building และสามารถคำนวณค่าบริการรวมถึงออกใบแจ้งหนี้
o Building Management System (BMS) : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์งานระบบของอาคาร เช่น ระบบปรับอากาศ Access Control ระบบลิฟต์ ระบบไฟส่องสว่าง ระบบ Fire Alarm ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบ Public Address
o Security Management System (SMS) : แสดงผลควบคุม และสั่งการ ระบบ CCTV ระบบ Fire Alarm ระบบ Smart Parking ระบบ Network Monitoring System ระบบ Bus Tracking ระบบ Environmental Monitoring System ระบบ Emergency Phone
o Substation Automation System (SA) : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าภายใน Substation
o Smart Street Lighting System : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของระบบไฟส่องสว่างตามแนวถนน ทางเดิน และทางจักรยาน
o Lighting Control System : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของระบบไฟส่องสว่างของอาคารต่าง ๆ ภายใน Utility Center
ระบบล้ำสมัยเหล่านี้เมื่อนำมาใช้งานจริงจะเป็นประโยชน์อย่างไร? ขอยกตัวอย่างระบบ EMS ที่ใช้บริหารด้านพลังงาน ทำงานควบคู่ไปกับ Smart Meter ที่ส่งข้อมูลมายังห้องควบคุมส่วนกลางและเห็นข้อมูลการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า ได้แบบ real-time ดังนั้น สามารถส่งข้อมูลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบว่าตนเองกำลังใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน และจะนำไปสู่การจูงใจให้ร่วมกันประหยัดพลังงาน รวมถึงยังออกบิลค่าไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่ต้องมีพนักงานออกจดหน่วยไฟฟ้าที่ใช้จากหน้ามิเตอร์
ที่น่าสนใจอีกระบบหนึ่งคือ Smart Street Lighting System เพราะระบบนี้ทำงานร่วมกับ IoT ที่ติดตั้งในไฟส่องสว่างตามทางเดินพื้นที่สาธารณะ ทำให้ระบบสามารถสั่งเปิด-ปิดไฟได้จากระยะไกล หรือตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ ที่สำคัญคือ ถ้ามีเหตุผิดปกติ เช่น ไฟฟ้าไม่ทำงาน ระบบสามารถแจ้งเตือนเพื่อให้ห้องควบคุมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาเมืองในปัจจุบันที่เรามักจะพบไฟส่องทางเดินเสียอยู่เสมอ โดยที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ทราบว่าต้องการการซ่อมแซม
ห้องทำงานอัจฉริยะ-อาคารรักษ์สิ่งแวดล้อม
ดังที่กล่าวไปว่าใน IOC ยังมีห้องประชุมและห้องสัมมนารองรับด้วย ภายในห้องประชุมขนาด 40 ที่นั่งนี้มีการติดตั้ง Video Wall ขนาดใหญ่ ด้วยจอแสดงผล 75 นิ้วเรียงต่อกัน 2 ชุด พร้อมกับมีจอแบบ Smart Touch-screen Interactive Display ขนาด 70 นิ้ว ผู้ร่วมประชุมสามารถเขียนลงบนหน้าจอโดยตรงและบันทึกเข้าคอมพิวเตอร์หรือส่งเป็นอีเมลได้ทันที
จอภาพในห้องนี้สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟนได้ และอุปกรณ์ไฟฟ้ายังสั่งการด้วยเสียงได้ด้วย กลายเป็นห้องประชุมที่สร้างเสริมให้การทำงานคล่องตัว เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้แบบไม่มีสะดุด
การออกแบบตัวอาคาร IOC นอกจากจะเป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีทันสมัย ตัวอาคารนี้ยังก่อสร้างได้มาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ในระดับ Certified ซึ่งเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้ประเมินมาตรฐานการออกแบบอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
การจะได้ LEED ในระดับ Certified นี้แปลว่าอาคารจะต้องเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ทั้งจากการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ภายใน เช่น ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบเครื่องปรับอากาศ ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เป็นต้น การออกแบบอาคาร IOC จึงไม่ได้คิดเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีเพียงมิติเดียว แต่ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
เพราะ กลุ่ม ปตท. มีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ภายใต้วิสัยทัศน์ Smart Natural Innovation Platform อยู่แล้ว และจะเป็นเมืองต้นแบบแห่งอนาคตในยุค Thailand 4.0 ต่อไป