เจาะลึกโปรเจกต์ ‘Horrus’ โดรน 5G อัจฉริยะที่เกิดจากผนึกกำลังของ AIS และ ARV


เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักกับ โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ (UAV : Unmanned Aerial Vehicle) และน่าจะรู้ถึงข้อจำกัดที่โดรนต้องมีคนบังคับ แต่ล่าสุดข้อจำกัดดังกล่าวได้ถูกปลดล็อคแล้ว พร้อมยกระดับความสามารถไปอีกขั้นสู่ 5G AI Autonomous Drone ที่เกิดจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่าง AIS 5G กับกลุ่ม ปตท. ผ่านการทำงานกับบริษัท ARV ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย


พัฒนากว่า 3 ปี สู่ 5G AI Autonomous Drone System

หลายคนน่าจะรู้จักกับ วังจันทร์วัลเลย์ ฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่เป็นพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอากาศยานไร้คนขับ, ยานยนต์อัตโนมัติ, นวัตกรรมพลังงาน และด้านคลื่นความถี่พิเศษ

โดยนับตั้งแต่ปี 2561 เอไอเอส ร่วมกับกลุ่ม ปตท. ในการนำ 5G และดิจิตัลแพลตฟอร์มมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ และล่าสุด AIS ได้ร่วมกับ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. พัฒนา 5G AI Autonomous Drone System โดยใช้ชื่อว่า Horrus ที่พัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด

“เทคโนโลยี 5G ไม่ใช่ประโยชน์พื้นฐานของผู้บริโภคเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมมาก 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นตัวเชื่อมของทุกเทคโนโลยีบนโลกนี้ โดยในพื้นที่โซนภาคตะวันออกซึ่งครอบคลุมพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี (EEC) รวมถึงพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ AIS 5G ได้ ครอบคลุมแล้ว 100% และครอบคลุมประเทศไทยแล้ว 87%” ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าว


5G ช่วยอัพเกรดการใช้งานโดรนไปอีกขั้น

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย เล่าว่า โจทย์ของการพัฒนา Horrus คือ การบินได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้มนุษย์มาบังคับ แต่การจะทำได้นั้นจำเป็นต้องใช้ เซลลูลาร์โดรน (Cellular Drone) เนื่องจากต้องใช้ แบนด์วิดท์ที่สูง และ ความหน่วงต่ำ เพื่อให้ตอบสนองแบบเรียลไทม์ มีระยะครอบคลุมเส้นทางการบินให้มีความเสถียรและปลอดภัย สามารถรับ-ส่งต่อข้อมูลทั้งภาพ เสียง และวิดีโอ กลับมายังศูนย์ควบคุมได้แบบรวดเร็วและเรียลไทม์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี 5G ถูกนำเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโดรนให้ตอบโจทย์การใช้งาน

ดังนั้น ทีมวิศวกรของ AIS จะต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างสมบูรณ์ อาทิ การออกแบบ Network Architecture หรือ สถาปัตยกรรมโครงข่าย 5G SA (Standalone) บนคลื่น 2600 MHz โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี Autonomous Network ซึ่งมีความอัจฉริยะในการจัดการและดูแลระบบได้ด้วยตัวเอง, การใช้ Network Slicing เพื่อตอบสนองแอปพลิเคชันที่ต้องการคุณสมบัติทางเครือข่ายที่แตกต่างกัน รวมถึงบริการ MEC (Multi-access EDGE Computing) และ PARAGON Platform เพื่อรองรับการบริหารจัดการ และพัฒนาโซลูชันที่ต้องการความหน่วงต่ำ

“ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีโดรน คือ ต้องมีคนบังคับโดรน แบบ Line of sight หรือ ต้องคือต้องบินโดรนอยู่ในระยะสายตาของผู้บังคับโดรนเท่านั้น  ดังนั้น เราจึงต้องการทำให้เหนือกว่านั้น โดยใช้เซลูลาร์โดรน จากตอนแรกเราต้องติดมือถือไปกับโดรน แต่ตอนนี้เพียงแค่ใส่ซิม โดรนก็สามารถทำงานได้เลย”


เริ่มทดลองใช้จริงกับการก่อสร้างและการจราจร

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ในเครือ ปตท. สผ. อธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยี 5G และ Network Slicing จะช่วยเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล ลดความหน่วงในการสั่งการควบคุมโดรน มีความเสถียรมากกว่าสัญญาณวิทยุและ Wifi จึงทำให้ Horrus สามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย และเป็นระบบอัตโนมัติตามเวลาและเส้นทางการบินที่กำหนดไว้ล่วงหน้าสามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติและส่งแจ้งเตือนกลับมาที่ศูนย์ควบคุมได้แบบเรียลไทม์

ที่ผ่านมาบริษัท ARV ได้เริ่มมีการทดลองใช้ Horrus ในการ ติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง โดย Horrus จะเก็บข้อมูลภาพเพื่อมาทำการเทียบกับข้อมูลก่อนหน้าเพื่อตรวจสอบความคืบหน้า นอกจากนี้ ได้มีการร่วมกับ กรมทางหลวง ในการใช้ Horrus สำรวจข้อมูลสภาพการจราจรและรายงานอุบัติเหตุต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ในอนาคตยังสามารถนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อีกมากมาย

“ด้วยเครือข่าย 5G ทำให้ Horrus สามารถบินไกลกว่าการใช้สัญญาณวิทยุทั่วไป ช่วยให้สามารถบินได้หลายครั้ง และบินพร้อมกันได้หลายลำ ไม่ว่าจะอยู่กรุงเทพหรือที่ไหนก็สามารถสั่งงานได้ โดย Horrus จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัด อาทิ การใช้โดรนตรวจสอบการทำงานในพื้นที่โรงงาน, การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในธุรกิจของกลุ่ม ปตท.” ดร.ธนา กล่าว


เชื่อ 5G จะช่วยพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือกับบริษัท ARV แสดงให้เห็นถึงภารกิจของ AIS ที่ต้องการนำนวัตกรรมมาเสริมสร้างและพัฒนา พร้อมขับเคลื่อน Digital Economy ของไทย ผ่านการเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรต่าง ๆ และ Use case ซึ่งการใช้ 5G ยกระดับโดรน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ในการใช้โดรนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

“เรามองว่าสิ่งที่เราทำเป็นแค่ 10% ของโซลูชันที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีในอนาคต ดังนั้น ต้องจับตาดูถึงความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ของ AIS ที่จะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเติบโตของภาคอุตสหกรรมในอนาคต” ธนพงษ์ ย้ำ

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน

“Your Trusted Smart Digital Partner”

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่

Email : business@ais.co.th
Website : https://business.ais.co.th