จาก CU/TU Colorguard สู่ ‘CU/TU Cyberguard’ ถอดแนวคิด ‘เอไอเอส’ – ‘แบงก์ชาติ’ ที่ผสานพลังนักศึกษา มาสร้างปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์ให้คนไทย


ในยุคที่ภัยไซเบอร์คุกคามประชาชนอย่างต่อเนื่อง เอไอเอส (AIS) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สร้างสรรค์โครงการที่ใช้จุดแข็งของนักศึกษาจากสองสถาบันชั้นนำของประเทศ เพื่อเข้าถึงและสื่อสารความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อสร้างปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์ให้คนไทย


ทำไมต้องเป็น CU/TU Colorguard?

หากพูดถึงการสร้างความตระหนักรู้ทางด้านดิจิทัล ทาง เอไอเอส (AIS) ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย โดยมีเป้าหมายเดียวคือ สร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ให้กับคนไทยให้ได้มากที่สุด ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2018 ที่เอไอเอสได้พัฒนาหลักสูตร อุ่นใจ ไซเบอร์ ที่ปรับให้เข้ากับบริบทของคนไทย เพื่อช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางดิจิทัล Digital Wisdom ผ่านรูปแบบคอนเทนต์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอนิเมชั่น ภาพยนตร์โฆษณา และนิยายนอกจากนี้ เอไอเอสยังได้จัดทำ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index เครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ที่ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัลในด้านต่างๆ ของประชาชนแต่ละกลุ่ม อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS มองว่า การจะสื่อสารไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอาจต้องใช้ จุดแข็งของเหล่า CU/TU Colorguard ที่เก่งในด้านการ เล่าเรื่อง อีกทั้งยังมีความรู้และความเท่าทันเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ จนเกิดเป็น โครงการ CU-TU CyberGuard:พลังสองสถาบัน สร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์มาร่วมกันส่งต่อความรู้ด้านทักษะดิจิทัลและการป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน (Digital & Financial Literacy) ผ่านกิจกรรมค่ายอาสา

“ถ้าเราเล่าอาจดูวิชาการไม่น่าฟัง กลับกัน วิธีคิด วิธีมอง วิธีตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่นั้นมีความแตกต่าง มีพลัง และมีประสิทธิภาพในการสื่อสาร ดังนั้น เอไอเอส และแบงก์ชาติต่างก็มีคอนเทนต์ เราจึงต้องการหาคนที่พาคอนเทนต์ของเรา ไปสื่อสารให้คนไทยเข้าถึง”

เช่นเดียวกับ ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มองว่า “การสื่อสารเหมือนเคาะประตูบ้านคน ถ้าเขาไม่อินเขาก็ไม่เปิดรับ” ดังนั้น เหตุผลที่เลือก CU Colorguard และ TU Colorguard เพราะต้องการ พลังที่จะดึงคน

เพราะการเตือนโดยคนจริง ๆ มีประสิทธิภาพมากกว่าการส่งข้อความเตือนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเป็น การสื่อสารในภาษาเดียวกันระหว่างกลุ่มเยาวชน ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องการให้ความรู้ที่ครอบคลุมหลายด้าน ไม่เพียงแค่เรื่องภัยไซเบอร์ แต่รวมถึงความรู้ทางด้านการเงินอื่น ๆ เช่น การออมเงิน และการกู้เงินอย่างถูกวิธี”


ป้องกันดีกว่าแก้ไข

สาเหตุที่ เอไอเอส เน้นย้ำถึงการสื่อสาร สายชล มองว่า เพราะในแต่ละกระบวนการของมิจฉาชีพนั้นซับซ้อนมากขึ้นในทุกวัน แต่ถ้าสามารถสกัดการเข้าถึงมิจฉาชีพได้ ก็จะตัดวงจรของเหล่ามิจฉาชีพ ดังนั้น การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เช่นเดียวกับ ชญาวดี ที่มองว่า การป้องกันคือวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือ ดังนั้น หากประชาชนคนไทยมีภูมิคุ้มกันมิจฉาชีพ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการสื่อสารของเอไอเอสหรือแบงก์ชาติจะไปถึงคนไทย ดังนั้น โจทย์ในทุกวันนี้คือ ทำอย่างไรที่จะส่งต่อองค์ความรู้ให้คนไทยอย่างทั่วถึง ดังนั้น พาร์ทเนอร์จึงสำคัญมาก โดยที่ผ่านมา เอไอเอสได้ผสานความร่วมมือกับหลายองค์กร เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนปัจจุบัน หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์มีผู้เข้าถึงเกือบล้านคน

“เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องเพราะกลโกงมาเรื่อย ๆ เราก็ต้องทำต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่ทำลำพัง เราต้องมีเพื่อน และเราเชื่อมั่นในเพื่อน นำจุดเด่นของแต่ละคนมาใช้” สายชล ย้ำ


มุ่งสู่ปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์

สำหรับ โครงการ CU-TU CyberGuard:พลังสองสถาบัน สร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ จะเป็นการดึงศักยภาพของกลุ่ม Colorguard จากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมกันส่งต่อความรู้ด้านทักษะดิจิทัลและรู้เท่าทันภัยทางการเงิน เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ โดยช่วยกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย และจัดกิจกรรมค่ายอาสาที่โรงเรียนคลองใหญ่วิทยาคม อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เนื่องจากถือเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างมีกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง ตามการสำรวจโดย Thailand Cyber Wellness Index ที่เอไอเอสจัดทำขึ้น

“เอไอเอสจัดทำ Thailand Cyber Wellness Index ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และจะทำต่อไป เพราะนี่ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยระบุกลุ่มเปราะบางจากการสำรวจประชาชนกว่า 6 หมื่นคน เพื่อนำไปใช้เป็นเข็มทิศในการวางแผนโครงการช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง” สายชล อธิบาย

สำหรับโครงการ CU TU Cyberguard เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในการปกป้องประชาชนจากภัยไซเบอร์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทั้งในด้านการใช้งานบนโลกออนไลน์และการทำธุรกรรมทางการเงิน  โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ห่างไกล ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ปี 2025 เป็น “ปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์”