พอหมดแบรนด์โออิชิแบ็กอัพ ก็ดูเหมือนว่าการสื่อสารระหว่างตันกับสื่อก็ดูจะขาดน้ำหนักลงจากเมื่อก่อน เพราะหลังจากขายไอเดียบริษัท ไม่ตัน จำกัดจบ คราวนี้ก็อยู่ในช่วงรอเวลาดูว่า ไอเดียของ ตัน ภาสกรนที จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้เมื่อไร
ตัน สื่อสารออกมาชัดเจนว่า บริษัทใหม่ของเขามีไอเดียการก่อตั้งว่า เน้นลงทุนเองและหุ้นกับคนอื่น โดยไม่มีนโยบายถือหุ้นใหญ่เกินไป ไม่มีนโยบายเทกโอเวอร์ แต่จะใช้วิธีร่วมทุน โดยเขาจะถือหุ้นอย่างน้อย 25%
แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทใหม่ และถึงตันจะมีชื่อเสียงแค่ไหน แต่ด้วยรูปลักษณ์เถ้าแก่ที่ไม่ได้สังกัดบริษัท ก็อาจจะทำให้คนกังขาว่า อยู่กับตัน รูปแบบการดำเนินงานจะเป็นเช่นไร เพราะนี่ไม่ใช่บริษัทใหญ่อย่างไทยเบฟฯ ที่ตันจากมา
การเป็นบริษัทใหม่ที่ต้องบุกเบิก แม้จะมีข้อดีคือมีส่วนได้ร่วมเป็นเจ้าของ แต่คนที่สนใจต้องรู้ว่าคุณจะต้องเป็นคนเก่งจริงถึงจะถูกเลือก และต้องทุ่มเทให้กับการทำงานสมกับที่ได้รับเลือกอย่างเต็มที่ ซึ่งในทางกลับกัน ถ้ามีคุณสมบัติเช่นนั้น คนกลุ่มนี้ก็สามารถที่จะเลือกงานที่ดีมีอนาคต และมีความมั่นคงในบริษัทใหญ่ๆ ได้มากมายเช่นกัน
ดังนั้นโจทย์แรกที่ตันต้องเจอ น่าจะอยู่ที่ ทำอย่างไรที่จะจูงใจคนเก่งๆ เหล่านี้หันสนใจมาทำงานให้ หรือทำงานร่วมกับเขาได้
ตันรู้ดีว่าเขาเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ดังนั้นเขาจึงเลือกใช้ Social Media อย่าง Facebook เป็นช่องทางรับสมัครพนักงานภายใต้ชื่อโครงการ The 9 Challengers โดยผู้ที่ได้รับเลือกจะได้ทั้งงานและหุ้นรางวัลสูงสุด 3 แสนบาท แคมเปญนี้เรียกเสียงฮือฮาและจุดกระแสความสนใจได้ทันที โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัย
“ทั้ง 9 คนไม่จำเป็นต้องเป็นนักการตลาดทั้งหมด แต่ต้องคุยกับผมรู้เรื่อง เพราะจะมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจผม ไม่ใช่แค่พนักงาน”
เงื่อนไขของแคมเปญสามารถหาอ่านได้ในเฟซบุ๊กของตัน ภาสกรนที ที่ลงได้ระเอียดยิ่งกว่าการประกาศรับสมัครงานในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับคนที่อยากจองตั๋วเดี่ยวกับตัน หรือดูผลงานที่ตันไปออกสื่อต่างๆ ก็ดูได้จากเฟซบุ๊กของเขาเช่นกัน เรียกว่าเฟซบุ๊กคือช่องทางหลักหนึ่งในการสื่อสารของตันไปเรียบร้อยแล้ว ณ ตอนนี้ เพราะข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทไม่ตัน ทั้งหมด หาได้ที่นี่ ตั้งแต่วันเปิดตัวบริษัทที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว
จุดดีอย่างหนึ่งของตัน คือไม่ทิ้งฐานแฟนที่นิยมเขา เพราะคนสมัครที่ไม่ผ่านคัดเลือกจำนวนหนึ่งก็มีโอกาสได้ร่วมทานข้าวและรับของที่ระลึกจากเขาด้วย นี่แสดงให้เห็นว่า ตันใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางซีอาร์เอ็มกับกลุ่มแฟนด้วยอีกทางหนึ่ง
ตันกำหนดไว้ว่าต้องการรายได้อย่างน้อย 500 ล้านบาทในปีแรก แต่ภายใน 3 ปีเขาหวังไกลให้บริษัท ไม่ตัน จำกัด มียอดขายทะลุ 2,000 ล้านบาท ดังนั้นเขาบอกว่าทุกอย่างต้องเดินไปอย่างรวดเร็ว
หลังจากใช้เลขมงคล วันที่ 9 เดือน 9 เปิดตัวบริษัท ไม่ตัน จำกัด ระหว่างนี้ตันอยู่ในช่วงฟอร์มทีม ควบคู่ไปกับเตรียมโชว์เดี่ยว ซึ่งคาดว่ากิจกรรมของตันจะออกมาคึกคักอีกครั้งหลังเดี่ยว เมื่อเขาต้องรวบรวมเงินไปบริจาคให้กับการสร้างโรงเรียนผ่านมูลนิธิตันปัน ที่สร้างมาควบคู่กับธุรกิจใหม่
นอกจากเฟซบุ๊ก ซึ่งอัพเดตถี่ยิบกว่าก่อนวันเปิดตัวบริษัท 3-4 วัน ตันยีงมีเทคนิคการใช้ฟรีมีเดียอย่าต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่แรงเท่าช่วงสังกัดโออิชิ เพราะหลังวันเปิดบริษัท ก็เป็นคิวของเขาออกอากาศในรายการเจาะใจพอดี รวมทั้งเปิดจองบัตรเดี่ยวในวันเดียวกัน ถือเป็นการอินทิเกรทสื่อทุกด้านด้าน ทั้งออนไลน์ ทีวี และสิ่งพิมพ์ แบบ 360 องศาพร้อมๆ กัน
จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ทั้งหมดเป็นเหมือนการแจ้งข่าวให้กับแฟนๆ รู้ล่วงหน้าถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดที่จะเกิดขึ้น ทำให้แฟนๆ ติดตามได้โดยไม่พลาด และพลังของตันก็ยังแรงพอที่ทำให้งานนี้มีเอเยนซี่ที่เคยร่วมงานกับตันมานานเมื่อครั้งอยู่โออิชิ อย่างวายแอนด์อาร์ ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจเคเบิลทีวีอย่างกันตนา ก็มาร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง
แม้เทคนิคการใช้ฟรีมีเดียจะมีประสิทธิภาพได้เท่ายุค ตัน โออิชิ ได้หรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าความเป็นตันยังคงความกล้าได้กล้าเสีย รู้จัก และเข้าใจความกระหายข่าวของสื่อเป็นอย่างดี และถูกโยกย้ายมายังอาณาจักรแห่งใหม่ของเขาอย่างไม่ตกหล่น
- Episode ใหม่ของตัน
- ธุรกิจอาหาร ร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นเปิด Ramen Champion ที่อารีน่า 10 ทองหล่อ จำนวน 6 แบรนด์ 6 ร้าน ใช้เงินลงทุนราว 30-40 ล้านบาท โดยดำเนินงานภายใต้ชื่อ Japan Prime Restaurant Management โดยสาขาที่ 2 คือที่สุขุมวิทซอย 22 ซึ่งจะมีสนามฟุตบอลด้วย เป็นโมเดลรูปแบบเดียวกับอารีน่า 10 คาดว่าจะเปิดในไตรมาส 3 ปี 2554 และสาขาที่ 3 ที่คาดว่าจะเปิดคือที่เชียงใหม่ จำหน่ายราคาชามละ 180-250 บาท
- เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เปิดตัวไตรมาส 2 ปี 2554 โดยขณะนี้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยจักรพันธุ์ เพ็ญศิริ ที่เชียงราย ในการสนับสนุนการปลูกอัญชัน
- ธุรกิจบันเทิง ร้านคาราโอเกะ ร่วมทุนกับ R&B Karaoke ในสัดส่วน 50:50