เมื่อเทรนด์เกาหลีที่มาแรงแบบเกินต้าน เป็น Soft Power ที่ทำให้ในไทยมีร้านอาหารเกาหลี คาเฟ่เกาหลีเปิดใหม่มากขึ้น แบรนด์เครื่องดื่มก็จำเป็นต้องจับเทรนด์นี้ให้อยู่หมัด “อิชิตัน” จึงขอบุกตลาด K-pop เป็นครั้งแรก ส่ง “ตันซันซู” โซจูแบบไร้แอลกอฮอล์จับเซ็กเมนต์น้ำอัดลม พ่วงความหวังเป็นพระเอกกลุ่ม Non-Tea ช่วยอัพรายได้สู่หมื่นล้าน
บุกหนัก Non-Tea เปิดตลาดน้ำอัดลม
ถ้าพูดถึงแบรนด์ “อิชิตัน” หลายคนจะนึกถึงสินค้าชาเขียวเป็นหลัก เนื่องจากมีภาพจำต่อเนื่องกับ “ตัน ภาสกรนที” ที่อยู่ในตลาดชาเขียวมาอย่างยาวนาน แต่ตลาดชาเขียวเริ่มมีความผันผวน ไม่ได้เติบโตมากมายเหมือนช่วง 10 ปีก่อน อีกทั้งยังโดนพิษการตลาด ภาษีน้ำตาล ทำให้ตลาดมีการสะดุดไปเล็กน้อย
อิชิตันจึงต้องบุกตลาดอื่นที่เป็นกลุ่ม Non-Tea เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างรายได้ให้มากขึ้น ตั้งแต่แรกที่สร้างแบรนด์ได้มีสินค้ากลุ่ม “น้ำด่าง” ออกมาตีตลาดคนรักสุขภาพ มีการเพิ่มรสชาติใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่แค่กลุ่มน้ำด่างคงไม่เพียงพอต่อการสร้างพอร์ตกลุ่มนี้ให้โตให้ได้ดั่งใจ อิชิตันจึงต้องแตกไลน์ไปกลุ่มใหม่ นั่นก็คือ “น้ำอัดลม”
อิชิตันได้เปิดตัวแบรนด์ “ตันซันซู” เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเครื่องดื่มโซดารสชาติเหมือนโซจู หรือเหล้าเกาหลี มีรสผลไม้ แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ และน้ำตาล ประเดิมด้วย 2 รสชาติโซจูบอมบ์ และโยเกิร์ต ขนาด 360 มิลลิลิตร ราคา 20 บาท เป็นการวาง Positioning ในกลุ่ม “น้ำอัดลม” หรือกลุ่มน้ำสีนั่นเอง
เหตุผลในการบุกตลาดน้ำอัดลมนั้น ง่ายๆ เลยก็คือ ตลาดใหญ่มาก มูลค่าการตลาดสูง มีมูลค่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของตลาดเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีมูลค่า 42,695 ล้านบาท เติบโต 5.5% แบ่งเป็นน้ำดำ 36,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 72% เติบโต 6.2% ส่วนน้ำสีมีมูลค่า 12,000 ล้านบาท มีสัดส่วน 28% เติบโต 3.8%
ที่น่าสนใจคือตลาดไม่มีน้ำตาล หรือ Sugar Free แม้จะยังมีขนาดเล็ก แต่มีการเติบโตสูง เพราะด้วยเทรนด์การดูแลสุขภาพมากขึ้น น้ำดำแบบไม่มีน้ำตาล มีการเติบโต 20.2% ส่วนน้ำสีแบบไม่มีน้ำตาล เติบโต 57.2%
ด้วยตลาดที่ใหญ่ขนาดนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อิชิตันต้องแตกไลน์สินค้าใหม่ จะอยู่เพียงแค่ชาเขียวแบบเดิมไม่ได้ อีกทั้ง ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้บอกว่า จริงๆ อยากทำน้ำอัดลมตั้งแต่ 3 ปีก่อนแล้ว แต่มาติดช่วง COVID-19 พอดี ปีนี้ได้ลงทุนเครื่องจักรที่สามารถทำน้ำอัดลมได้ เลยทำสินค้าใหม่ขึ้นมา
นอกใจญี่ปุ่น จับเทรนด์เกาหลีครั้งแรก
ในการเปิดตัวตันซันซูครั้งนี้ คุณตันถึงเอ่ยปากเลยว่า “รู้สึกเขิลๆ” เพราะต้องนอกใจญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก หลังจากทำตลาดญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี แล้วต้องมาทำตลาดเกาหลีในปีนี้ แต่คุณตันก็บอกว่าเป็นไปตามเทรนด์ เพราะตนเองไม่สามารถเป็น CEO ได้ตลอด ต้องมีสินค้าที่จับคนรุ่นใหม่เข้ามาบ้าง
“อยู่กับญี่ปุ่นมา 20 ปี เป็นครั้งแรกที่เดินออกจากญี่ปุ่นมาเกาหลี ยังเขินๆ อยู่ ต้องยอมรับว่าเกิดจากสังคมของลูกหลาน แฟนคลับที่เรียกร้อง ถ้าอยากจับ K-pop แต่มาทำญี่ปุ่นก็ทำไม่ได้ แต่วัฒนธรรมญี่ปุ่นกับเกาหลีก็ใกล้เคียงกันอยู่ ตอนนี้ต้องโฟกัสธุรกิจคนรุ่นใหม่ แต่ก่อนทำธุรกิจชาญี่ปุ่นมาตลอด แต่ตอนนี้ต้องหาเทรนด์ใหม่ๆ”
เบื้องหลังในการพัฒนาตันซันซูขึ้นมา ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เริ่มต้นจากคุณตันพบเห็นบรรยากาศรอบตัว ทั้งเวลาจัดงานเลี้ยงที่บ้าน ลูกๆ ก็ชอบซื้อโซจูมาสังสรรค์ หรือเวลาไปสนามบิน ก็จะเจอแฟนคลับกลุ่มศิลปินเกาหลีมาเฝ้ารอศิลปินกันอย่างเนืองแน่น พร้อมกับบอกคุณตันว่าอยากให้คุณตันทำสินค้าที่เกี่ยวกับเกาหลี หรือดึงศิลปินเกาหลีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์
คุณตันจึงเริ่มเห็นโอกาสอันมหาศาลของ K Wave หรือคลื่นของ K-pop ที่ถาโถมในไทย และทั่วโลก มีข้อมูลว่าปัจจุบันตลาด K-POP Community ประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 6 ของโลกด้วยมูลค่าสินค้าและบริการกว่า 9.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350 ล้านบาท เป็นตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยกลุ่ม Gen Z ซึ่งมีความเป็นกลุ่มก้อนเหนียวแน่นชัดเจน
เห็นได้จากการรวมพลังเพื่อสนับสนุนศิลปินที่รักเต็มที่ เช่น การ sold out ของแทบทุกคอนเสิร์ต การสร้างปรากฏการณ์ห้างแตก การมีด้อมระดับนานาชาติที่ทรงพลังในโซเชียลมีเดียเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและทรงพลัง เมื่อมองในภาพรวมสัดส่วนประชากรไทย Gen Z มีสัดส่วนถึง 23% มีบทบาทสำคัญในตลาดอุปโภคบริโภค มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกและจับจ่ายสินค้าที่เหมาะกับตนเอง ดังนั้น การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใหม่นี้จึงส่งผลให้อิชิตันพัฒนาเครื่องดื่มที่ตอบสนองพลังร่วมสมัย และเป็นการพลิกโฉมยุคใหม่ของอิชิตันด้วย
นอกจากนี้ไทยยังได้รับอิทธิพลจากเกาหลีในหลายๆ ด้าน ทั้งแฟชั่น เครื่องสำอาง อาหาร ซีรีส์ บันเทิง รวมไปถึงการท่องเที่ยว คนไทยไปเที่ยวเกาหลีมากขึ้นถึง 12.1% ในช่วงก่อน COVID-19 ทุกอย่างล้วนเป็นอิทธิพลจากเทรนด์ของเกาหลีทั้งสิ้น
โดยเฉพาะ K-drink จะเห็นได้ว่าช่วงปีที่ผ่านมาเราได้เห็นโซจูเป็นหนึ่งในวงสังสรรค์มากขึ้น ตลาดโซจูโตมากกว่า 100% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท และยังไม่เคยมีที่ไหนพัฒนาโซจูแบบไม่มีแอลกอฮอล์เลยด้วย
ส่วนชื่อตันซันซู แปลว่า น้ำซ่า คุณตันเล่าว่าก่อนจะเป็นชื่อนี้มีการคิดด้วยกันหลายชื่อ ทั้งอิชิตันโซดา, อิชิตันบอมบ์ แต่ตันซันซูก็ชนะในที่สุด เพราะได้ฟีลเกาหลีเกาใจ และยังสื่อถึงอิชิตันด้วย
เป้าหมายใหญ่ กับรายได้หมื่นล้าน!
ตลาดชาพร้อมดื่มในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโต 23% มีมูลค่า 10,380 ล้านบาท คาดการณ์ว่าทั้งปี 2022 จะมีมูลค่า 13,000 เติบโต 20% เรียกว่าเป็นการเติบโต 2 หลักในรอบ 5 ปี โดยในช่วงก่อน COVID-19 เคยมีมูลค่า 16,000 ล้านบาท ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดชาพร้อมดื่มมีการเติบโต ส่วนใหญ่มาจากการคลายล็อกดาวน์ มาตรการเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายในร้านสะดวกซื้อเติบโตได้ดี แต่ในปีหน้าคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโต 15-20%
ในการออกตันซันซูในครั้งนี้ คุณตันคาดหวังว่าตัวนี้จะเป็นตัวเอกหลักของกลุ่ม Non-Tea ในการสร้างรายได้ให้มากขึ้น เรียกว่าเป็น “ความหวังใหม่” ก็ว่าได้ เพราะตอนนี้กลุ่ม Non-Tea มีสัดส่วนรายได้แค่ 4% เท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้มีสินค้าเพียงแค่น้ำด่างแค่ตัวเดียว ตั้งเป้าให้มีสัดส่วน 12% ในปีหน้า
โดยคุณตันมีเป้าหมายใหญ่ก็คือรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท เคยตั้งเป้ามา 4-5 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมามีสะดุดทั้งเรื่องภาษีน้ำตาล เรื่องโปรโมชัน และ COVID-19 ในปีนี้เริ่มมีสัญญาที่ดีขึ้น เป็นปีแรกที่รายได้ของไตรมาส 3 ชนะช่วงไตรมาส 2 หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี
อีกหนึ่งสัญญาณที่คุณตันมองว่าตันซันซูจะเป็นความหวังใหม่ได้นั้น เนื่องจากหลังที่วางตลาดได้ไม่นาน สินค้าก็ได้ขาดตลาด อิชิตันเคยเกิดปรากฏการณ์นี้ก็ตอนออก “เย็นเย็น” เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ขาดตลาดเช่นเดียวกัน จึงมองว่าสินค้าน่าจะได้รับการตอบรับดี
สำหรับตันซันซูจะทำการตลาดแนว Real Korean นอกจากจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรดทั่วไปแล้ว มีแผนจะเข้าร้านอาหารเกาหลี และซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีเพิ่มเติม ส่วนถ้าจะมีพรีเซ็นเตอร์ ก็ต้องเป็นคนเกาหลีจริงๆ จะเป็นศิลปิน หรือนักแสดง ยังคงเป็นความลับ อาจจะได้เห็นในช่วงปีหน้าก็เป็นได้