กลายเป็นปัญหาระดับประเทศไปซะแล้ว สำหรับ ‘Play Station 5’ หรือ ‘Ps5’ ที่ขาดตลาดอยู่ในตอนนี้ ซึ่งแค่ของหมดคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพราะเชื่อว่าเหล่าเกมเมอร์หลายคนคงรอได้ แต่ประเด็นคือ ด้วยของที่มีน้อยอยู่แล้ว แต่ดันโดนคนบางกลุ่มตัดหน้าจองโดยใช้โปรแกรมช่วย แล้วเอามาเก็งกำไรขายนี่ซิ เป็นเรื่องที่หลายคนรับไม่ได้ถึงขนาดที่ในสหราชอาณาจักร (UK) มีการเสนอให้การกักตุนเครื่องเกมเป็นสิ่งผิดกฎหมายเลยทีเดียว
ในปี 2020 Sony สามารถขายเครื่อง PlayStation 5 ได้ถึง 4.5 ล้านเครื่อง ขณะที่ยอดขายเองก็ยังทำได้ดีเพราะแรงส่งจาก COVID-19 ที่ทำให้คนว่างมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ธุรกิจเกมของ Sony ทำรายได้ 883.2 พันล้านเยน ในไตรมาสล่าสุดซึ่งเติบโตขึ้น 40% จากปี 2019
อย่างไรก็ตาม Sony เองก็ได้ออกมาระบุว่า ถึงแม้จะมีแฟน ๆ ที่รอคอยจะเป็นเจ้าของเครื่อง Ps5 อย่างใจจดใจจ่อ แต่ปัญหาด้านการผลิตที่ยังจำกัดทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมหลายคนรู้สึกหงุดหงิด แต่สิ่งที่ทำให้เกมเมอร์หัวร้อนยิ่งกว่าก็คือ มีคนหัวใสใช้บอทหรือโปรแกรมช่วยในการจองสินค้า ก่อนที่จะนำสินค้าไปขายโดยบวกราคาเพิ่มอีกเพียบ
อย่างประเทศไทยเอง ราคาของ Ps5 พุ่งเป็นเท่าตัว จากราคาจองอยู่ที่ 1.4 หมื่นบาทสำหรับรุ่นดิจิทัล และ 1.7 หมื่นบาทสำหรับรุ่นปกติ แต่มีคนเอามาปล่อยขายกันที่ 2.5-3 หมื่นบาทเลยทีเดียว ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ได้ต่างกันนัก อย่างสหรัฐฯ ก็พุ่งจาก 500 ดอลลาร์เป็น 3,000 ดอลลาร์เลยทีเดียว
เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรที่เจอปัญหานี้ โดยราคา Ps5 พุ่งไปที่ 950 ยูโรหรือประมาณ 3.5 หมื่นบาท ทำให้ Douglas Chapman หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรได้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวพร้อมกับ ส.ส. อีก 32 คนได้ร่วมลงนามในการยื่นร่างกฎหมายควบคุมดูแลป้องกันมิให้เกิดการค้ากำไรเกินควร
“การยื่นร่างกฎหมายนี้เกิดจากการที่มีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนว่าไม่สามารถจองเครื่องได้ทัน เนื่องจากเจอคนบางกลุ่มที่ใช้บอทหรือโปรแกรมช่วยในการแย่งจองสินค้ากับคนทั่วไป แล้วนำมาปล่อยในราคาที่สูง ซึ่งการกักตุนสินค้าเพื่อขายโก่งราคากำลังกลายเป็นปัญหาที่หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ”
ก็ไม่รู้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องการกักตุนสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในราคาสูงเกิดขึ้นกับสินค้าหลายประเภท หากย้อนไปในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ใหม่ ๆ หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ ก็เป็น 2 สิ่งที่ถูกกักตุนมาขายในราคาสูง ทำให้หลายประเทศฝั่งตะวันตกเริ่มตระหนักถึงปัญหาการกักตุนสินค้าในวงกว้างแล้ว