กางแผน ‘Dtac’ ปี 64 เดินหน้าปูพรม ‘5G’ ทั่วไทย มัดใจผู้ใช้ต่างจังหวัด

ค่ายสีเขียวเพิ่งประกาศแผน 5G ไปหมาด ๆ ล่าสุดก็ถึงคิวของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘Dtac’ (ดีแทค) ที่ออกมากางแผนกลยุทธ์ปี 2564 โดยเฉพาะเรื่องของ ‘5G’ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรบ้างในปีนี้

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเพราะ COVID-19

เน็ตภูธรหน้าใหม่ (THE NEW RURALS) ดีแทคพบว่ามาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมของปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อการใช้มือถือของประเทศไทย โดยจากการย้ายถิ่นฐานของคนเมืองและการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของชุมชน ส่งผลให้การใช้งานดาต้าในส่วนภูมิภาคโตมากกว่าการใช้งานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 9 เท่า สอดคล้องกับทิศทางการเพิ่มขึ้นของการใช้งานสมาร์ทโฟนเร็วขึ้น โดยในส่วนภูมิภาคก็เติบโตเร็วกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า

ขยันผ่านเน็ตทางไกล (THE REMOTE DESKERS) กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปรับตัวรับกับยุค New Normal โดยทำงานและเรียนที่บ้าน ซึ่งมีความต้องการใช้งานดาต้าจากชุมชนที่พักอาศัย โดยใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อสร้างผลผลิตและการทำงานร่วมกันแม้อยู่คนละพื้นที่ ตามข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 2563 – ม.ค.2564 พบว่า งาน Zoom เพิ่มขึ้น 5050% และ Google Hangouts 740%

อยู่ติดบ้านด้วยเน็ตบันเทิง (THE NON-STOP STREAMER) จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ หรืออยู่บ้านพบว่ากลุ่มผู้ใช้งานที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแอปพลิเคชันเพื่อบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง และช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านแอปเพื่อตอบโจทย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น อาทิ YouTube และ TikTok

เน็ตคือหัวใจสำคัญ (THE CRITICAL USER) กลุ่มผู้ใช้งานที่พึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจ ให้บริการแก่ประชาชนและชุมชน เช่น โรงพยาบาลและบริการฉุกเฉิน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจ เป็นต้น

กำหนดกลยุทธ์อิงพฤติกรรม

เมื่อผู้ใช้ในภูมิภาคและพื้นที่ห่างไกลหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น ดีแทคจึงได้เร่งนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะขยาย 4,400 สถานีฐานทั่วประเทศภายในไตรมาสที่ 1/2564 โดยดีแทคเปิดให้บริการ 5G และ 4G บนคลื่น 700 MHz ด้วยเทคโนโลยีใหม่ Dynamic Spectrum Sharing (DSS) ที่ทำให้ใช้งานทั้ง 5G และ 4G ไม่ต้องแบ่งแบนด์วิดท์ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด

ที่ผ่านมา ดีแทคเร่งขยายเทคโนโลยี 5G-ready massive MIMO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานดีขึ้น 3 เท่า และเปิดให้บริการ 4G-TDD บนคลื่น 2300 MHz (ให้บริการบนคลื่น NT หรือ ทีโอที เดิม) อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณ 20,400 สถานีฐาน ทั้งนี้ Opensignal ให้ดีแทคเป็นผู้ชนะรางวัลด้านดาวน์โหลดเร็วสุดในประเทศไทยติดต่อกันจาก 2 รายงานประจำเดือนเมษายน และพฤศจิกายน 2563 นอกจากนี้ ยังนำคลื่น 26 GHz มาทดสอบใช้งานบริการต่าง ๆ อีกด้วย

“การเชื่อมต่อสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน และสร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่งผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงคือจุดมุ่งหมายที่ผลักดันทิศทางการดำเนินธุรกิจของดีแทค นอกจากบริการการสื่อสารไร้สายทั้ง 5G และ 4G ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ดีแทคยังพัฒนาบริการใหม่หลากหลายที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านผู้ใช้งานสู่ชีวิตดิจิทัล” ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าว

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

เทรนด์ผู้บริโภคที่สำคัญ 5 ประการที่สนับสนุนการใช้มือถือในยุคนี้

“Digital-First Experiences”: เน้นการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคแบบ Digital First เช่น การซื้อทางออนไลน์และการรับสินค้าในร้าน การให้บริการในภาษาเดียวกับลูกค้า เช่น WeChat mini program แอปในภาษาจีน ดีแทคแอป ภาษาพม่า และรวมถึงรูปแบบการสื่อสารใหม่ถึงลูกค้า เช่น Facebook Live และ TikTok

“Digital Inclusion”: เน้นใช้ช่องทางดิจิทัลในดีแทคแอป โดยมีกิจกรรมจาก dtac reward สำหรับลูกค้าระบบเติมเงิน ที่สามารถสะสม dtac reward coins แลกสิทธิพิเศษได้อย่างคุ้มค่า

“360-degree Personalization”: ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ออกแบบข้อเสนอที่ตอบสนองแต่ละบุคคล โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าข้อเสนอทั่วไปมากถึง 3 เท่า ทำให้การใช้งานดีแทคแอปรายเดือน เติบโตขึ้น 40% ในปี 2563

“New Business Normal”: โมเดลธุรกิจวิถีใหม่ โดยดีแทคร่วมมือพันธมิตรเพื่อนำเสนอบริการใหม่ ๆ แก่ลูกค้า เช่น ประกันสุขภาพ ส่วนลดร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต หรือการโอนเงินที่มั่นใจได้ บริการเหล่านี้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางดิจิทัลให้กับผู้ใช้งาน

“Trust Matters”: แบรนด์ที่มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ คิดดี ทำดี ไว้ใจได้ในทุกบริการ เพื่อให้เกิดความสบายใจสำหรับผู้ใช้ดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและผลประโยชน์ของลูกค้า พร้อมมีบริการช่วยเหลือลูกค้า เช่น บริการใจดีให้ยืม ใจดีให้โอน และบริการดิจิทัลอื่น ๆ

“ผู้ใช้บริการของเรามีความคาดหวังบริการที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล เรานำระบบปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพได้ดีกว่าข้อเสนอทั่วไปได้มากถึง 3 เท่า ดีแทคแอปยังเปิดประสบการณ์ บริการที่มีประโยชน์และให้ความบันเทิง ที่มีทั้งเกมและส่วนลดอาหาร รวมถึงประกันสุขภาพและบริการโอนเงิน ทำให้ลูกค้าของเราปลอดภัยและมีความสุข รวมถึงคุ้มค่าในการใช้จ่ายอีกด้วย” ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค กล่าว

ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค

ไม่ทิ้งการสนับสนุนสังคมไทย

ดีแทคเพิ่งเปิดตัวโครงการ ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ (Net for Living) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มล่าสุด ที่ช่วยฝึกอบรมผู้ค้ารายย่อย 100 ราย ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และขยายผลให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบธุรกิจค้าขายได้บนพื้นที่ออนไลน์ มุ่งมั่นช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากพื้นที่ขายออนไลน์ 15% ต่อปี

สำหรับเยาวชน ดีแทคจะยังคงดำเนินโครงการ Safe Internet ซึ่งได้สอนทักษะด้านดิจิทัลให้กับนักเรียนและครูในปีนี้อีก 200,000 คน และในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ดีแทคมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 50% ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573

“เราอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเดินหน้าฟื้นตัวในปี 2564 โดยมุ่งมั่นตามกลยุทธ์ของเราที่จะนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่ทุกคน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ใช้งานดิจิทัลของลูกค้าเรา จากข้อมูลและความเข้าใจของลูกค้าเราใส่ใจ เปรียบเสมือนเราได้นำความสุข ความก้าวหน้า ความโชคดี และที่ยืนหยัดทุกสถานการณ์ส่งมอบให้กับลูกค้าเราตลอดปีฉลูอีกด้วย”