พิษโรคระบาดทำคนใช้จ่ายน้อย ปี 2563 รายได้ร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) ลด 10% หายไป 3 หมื่นล้าน เหลือ 3 เเสนล้าน ฉุดกำไร CPALL ร่วง 27.9% ‘แม็คโคร’ ยังโตรายได้เพิ่ม วางเเผนปีนี้ทุ่มลงทุนร้านสะดวกซื้ออีก 1.2 หมื่นล้าน
วันนี้ (22 ก.พ.2564) เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงิน บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการดำเนินงานปี 2563 โดยบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 546,590 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 525,884 ล้านบาท ลดลง 4.5%
มีต้นทุนในการจัดจําหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร 107,858 ล้านบาท ลดลง 3.3% มีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จํานวน 19,262 ล้านบาท ลดลง 28.0% จากปีก่อน และมีกําไรสุทธิ 16,102 ล้านบาท ลดลง 27.9%
ปัจจัยหลักๆ มาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง เเละมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้จำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยลดลง รวมไปถึงการมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการถือปฎิบัติตาม TFRS16
สำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) ในปี 2563 มีรายได้รวม 300,705 ล้านบาท ลดลง 33,356 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% มีกําไรขั้นต้นจํานวน 83,724 ล้านบาท ลดลง 10,103 ล้านบาท คิดเป็น 10.8% โดยมีสัดส่วนกําไรขั้นต้น 27.8% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ 28.1%
รายได้ของ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ที่ลดลงดังกล่าว สาเหตุหลักๆ มาจากการขายสินค้าและบริการ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทําให้การประหยัดต่อขนาดที่ศูนย์กระจายสินค้าลดลง รวมถึงสัดส่วนของรายได้จากการขายสินค้าที่มีอัตรากําไรขั้นต้นสูงลดลง
ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมในปี 2563 ลดลง 14.5% โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 70,851 บาท มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณเท่ากับ 75 บาท ขณะที่จํานวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 949 คน
ด้านธุรกิจศูนย์จําหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชําระเงินสดและบริการตนเอง (ธุรกิจแม็คโคร) ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ จากการขายและบริการไว้ได้ในระดับหนึ่งจากการเติบโตของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย และสาขาในประเทศอินเดียและกัมพูชา
โดยแม็คโคร มีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกัน 8,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อน
ขณะที่ กลุ่ม ‘ธุรกิจอื่น’ มีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 4,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อน เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม
ในปี 2564 CPALL มีแผนจะลงทุนเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่ อีกราว 700 สาขา คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาทเเบ่งเป็น
- เปิดร้านสาขาใหม่ ลงทุนราว 3,800 – 4,000 ล้านบาท
- ปรับปรุงร้านเดิม ลงทุนราว 2,400 – 2,500 ล้านบาท
- โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า ลงทุนราว 4,000 – 4,100 ล้านบาท
- สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ ลงทุนราว 1,300 – 1,400 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็จะวางเเผนเพิ่มตู้จําหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) เเละช่องทางขายทางออนไลน์ อย่าง ALL Online ผ่าน 7-Eleven.TH Application ShopAt24 เเละเเอปพลิเคชัน 7-delivery เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ที่มา : SET