พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ อองซานซูจี มีแผนจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว (interim government) ขึ้นมาท้าทายอำนาจของกองทัพพม่า และจะขอการรับรองจากสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
ดร. ซาซา (Sa Sa) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐสภาพม่า หรือ ปยีดองซู ฮลุตตอ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw – CRPH) ในเวทียูเอ็น ได้แจกแจงแผนดังกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส พร้อมกันนั้นก็ตำหนิประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนว่า “ไม่ยืนหยัดร่วมกับประชาชนชาวพม่า” หลังจากเจ้าหน้าที่ไทยและอินโดนีเซียได้มีการพบปะกับ “วันนา หม่อง ละวิน” รัฐมนตรีต่างประเทศของคณะทหารพม่า ที่กรุงเทพมหานครในสัปดาห์นี้
“เพื่อนบ้านที่ดีไม่ควรจะเล่นเกมกับพวกผู้นำคณะรัฐประหาร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทำผิดกฎหมายอยู่” ซาซา กล่าว
“พวกเขาไม่ควรเปิดการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่า อองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของเรา จะได้รับการปล่อยตัว”
คำพูดของ ซาซา สะท้อนความพยายามของผู้นำพลเรือนพม่าที่หวังจะสถาปนาโครงสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมาแข่งขันกับคณะผู้นำทหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เพื่อช่วงชิงการยอมรับจากนานาชาติ แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะถูกกองทัพสกัดขัดขวางแล้ว เพื่อนบ้านบางประเทศก็เริ่มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งบ่งชี้ว่าทิศทางการทูตกำลังเปลี่ยนไปเข้าทางฝ่ายทหารมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. รัฐบาลทหารที่จับกุม ซูจี และผู้นำพรรคเอ็นแอลดีหลายคนหลังทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปีที่แล้วซึ่งพรรคของ ซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย “เป็นโมฆะ”
ขณะเดียวกัน กองกำลังความมั่นคงพม่าก็เริ่มที่จะยกระดับปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วง และนัดหยุดงานทั่วประเทศ โดยมีรายงานผู้ประท้วงถูกยิงทั้งที่นครย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์
ฝ่ายผู้ประท้วงพม่าก็ได้รับแรงหนุนที่สำคัญ เมื่อ จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตพม่าประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวสุนทรพจน์ประณามคณะรัฐประหารกลางเวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็นที่นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 26 ก.พ. พร้อมทั้งประกาศตัวอยู่ข้างรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี และเรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นกดดันกองทัพพม่าให้ยอมสละอำนาจ
ภายหลังการรัฐประหาร ส.ส.พรรคเอ็นแอลดีที่รอดจากการถูกจับกุม ได้ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการตัวแทน CRPH ขึ้น และจัดพิธีสาบานตนขึ้นมาเอง พร้อมทั้งมีการแต่งตั้ง ดร.ซาซา ซึ่งเป็นแพทย์และผู้ทำงานด้านการกุศลเป็นตัวแทน CRPH ประจำยูเอ็น และให้ ติน ลิน ออง (Htin Lin Aung) อดีตนักโทษการเมืองซึ่งอาศัยอยู่ที่รัฐแมริแลนด์ เป็นผู้แทนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แม้สมาชิกและ ส.ส.พรรคเอ็นแอลดีส่วนใหญ่จะถูกคุมขังหรืออยู่ระหว่างหลบหนี แต่ ซาซา ยืนยันว่า CRPH มีความมุ่งมั่นที่จะตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในประเทศ “เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา”
“เราพร้อมจะทำงานร่วมกับประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงกับจีนและอินเดียด้วย การมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีเสถียรภาพย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่าสำหรับพวกเขา”
วันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของคณะรัฐประหารพม่า ได้บินมายังประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ 24 ก.พ. เพื่อร่วมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้กล่าวแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัย และสวัสดิภาพของประชาชนชาวพม่า
ข่าวการพบปะหารือทางการทูตครั้งนี้สร้างความโกรธแค้นต่อผู้ประท้วงในนครย่างกุ้ง ซึ่งพากันไปประท้วงที่ด้านนอกสถานทูตอินโดนีเซียในสัปดาห์นี้
“เราไม่ต้องการให้เพื่อนบ้านในอาเซียน หรือรัฐบาลของชาติใดๆ เข้าไปติดต่อพูดคุยกับคณะรัฐประหารในตอนนี้ พวกเขาควรจะทำงานร่วมกับเรามากกว่า”