รีบรักษาก่อนเกิดถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว ลดโอกาสตัดรังไข่ทิ้ง

young woman having a stomachache

ถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรคถุงน้ำรังไข่ทุกชนิด โดยเฉพาะถุงน้ำรังไข่ชนิดเนื้องอกธรรมดา อย่างเช่น เดอร์มอยด์ซีสต์ โดยมักทำให้มีอาการปวดท้องน้อยฉับพลัน คลื่นไส้อาเจียน และรุนแรงมากถึงขั้นทำให้รังไข่ขาดเลือด จนต้องผ่าตัดเอารังไข่ข้างนั้น ๆ ออก เพราะฉะนั้นหากเป็นโรคถุงน้ำรังไข่ควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดโอกาสในการถูกตัดรังไข่ทิ้ง

แพทย์หญิงจุฑาธิป พูนศรัทธา สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่าโรคถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่ (Cystic Ovary) คือการที่รังไข่มีของเหลวคั่งอยู่ภายในจนเกิดเป็นถุงน้ำ พบได้ในผู้หญิงอายุทุกวัย โดยเฉพาะตั้งแต่ 25 – 40 ปีขึ้นไป ส่วนภาวะถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว เกิดจากการที่ภายในถุงน้ำมีมวลหรือความหนาแน่นไม่เท่ากัน จนทำให้เกิดการบิดตัว ซึ่งการบิดตัวจะทำให้เส้นเลือดโดนบิดไปด้วย เลือดจึงไปเลี้ยงรังไข่ไม่ได้ และเมื่อรังไข่ขาดเลือดไปเลี้ยงนาน ๆ จะส่งผลให้เนื้อรังไข่ตาย จนต้องผ่าตัดรังไข่ออกในที่สุด

การเหลือรังไข่เพียงข้างเดียว แม้ว่าระดับฮอร์โมนจะยังเป็นปกติ แต่หากในอนาคตเกิดโรคอื่น ๆ กับรังไข่อีกข้างที่จำเป็นต้องตัดรังไข่ออกอีก ก็จะไม่เหลือรังไข่ในการผลิตฮอร์โมนเพศ กลายเป็นการเข้าวัยทองทันที

เมื่อร่างกายเกิดภาวะรังไข่บิดขั้ว จะทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยฉับพลัน ปวดบิดรุนแรง และมักจะปวดมากขึ้นตอนที่ทำกิจกรรมหรือขยับร่างกาย เช่น ออกกำลังกาย นอกจากนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

โรคถุงน้ำรังไข่แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  1. ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานของรังไข่ (Functional Cyst) ถุงน้ำจะมีลักษณะใส ๆ เกิดขึ้นได้ตามรอบเดือน และสามารถยุบเองได้เมื่อประจำเดือนมา แต่หากมีขนาดใหญ่ถึง 6 เซนติเมตร มักจะไม่สามารถยุบเองได้
  2. ถุงน้ำรังไข่ที่เป็นเนื้องอกธรรมดา (Benign Ovarian Cyst) มีหลายชนิด เช่น เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cyst) ลักษณะภายในถุงน้ำอาจมีของเหลวอย่างอื่น เช่น ไขมัน เส้นผม หรือกระดูก เกิดจากการที่รังไข่มีการแบ่งตัวผิดปกติ และไม่สามารถยุบเองได้
  3. ถุงน้ำรังไข่ที่เป็นมะเร็ง ภายในถุงน้ำอาจมีส่วนที่เป็นของแข็ง เช่น เนื้อมะเร็ง

    สำหรับภาวะถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่เป็นเดอร์มอยด์ซีสต์ เนื่องจากความหนาแน่นของสารในซีสต์ไม่เท่ากันจึงหมุนได้ง่าย เพราะฉะนั้นเมื่อตรวจอัลตราซาวด์พบเดอมอยด์ซีสต์ วิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดคือการผ่าตัดเอาซีสต์ออก ก่อนที่จะเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว

    ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผลที่เรียกว่า NOTES มีข้อดีคือ หลังการผ่าตัดไร้แผลจะเจ็บปวดน้อย และฟื้นตัวไว สามารถนำมาใช้ในการผ่าตัดซีสต์ของรังไข่บางประเภทได้ แต่หากเริ่มมีอาการของถุงน้ำรังไข่บิดขั้วแล้ว การผ่าตัดที่เหมาะสมคือการผ่าตัดนำซีสต์ออก หรือตัดรังไข่ข้างนั้นออกขึ้นอยู่กับภาวะของเนื้อรังไข่ในขณะนั้น สามารถผ่าตัดด้วยเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง ข้อดีคือ มีแผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวไวเช่นกัน แต่หากมาพบแพทย์ในระยะวิกฤติที่เกิดการติดเชื้อทั่วช่องท้องแล้ว อาจต้องถูกผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งจะทำให้มีแผลเป็นยาวบริเวณหน้าท้อง และฟื้นตัวได้ช้ากว่า

    “แม้ว่ายังไม่มีอาการของถุงน้ำรังไข่ ผู้หญิงทุกคนก็ควรมาตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ ถ้าตรวจแล้วเจอถุงน้ำรังไข่ ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรถามสูตินรีแพทย์ที่ดูแลว่าลักษณะของถุงน้ำรังไข่แบบนี้ ต้องได้รับการรักษาอย่างไร เพราะการได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรก จะช่วยป้องกันการเกิดถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว และยังช่วยลดโอกาสในตัดรังไข่ทิ้งได้อีกด้วย” แพทย์หญิงจุฑาธิปกล่าว