บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด คว้ารางวัลพิเศษ “พีเอ็ม ดิจิทัล อวอร์ด” ประเภท “Digital International Corporation of the Year” นับเป็นเครื่องยืนยันการสนับสนุนอันทรงคุณค่าและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยอย่างต่อเนื่องของหัวเว่ย นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยเมื่อ 21 ปีก่อน รวมถึงความทุ่มเททำงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในประเทศไทย โดยหัวเว่ย เป็นบริษัทต่างชาติเพียงรายเดียวที่ได้รับรางวัลนี้
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด รับมอบรางวัลจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมในพิธีที่จัดขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล พร้อมชื่นชมคนรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ต่อยอด และสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ เพื่อก้าวหน้าไปพร้อมกัน ก่อนเสริมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบ 5G และ AI เพื่อนำมาขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคต และหวังให้ความสำเร็จในวันนี้เป็นแรงบันดาลใจส่งต่อไปยังนิสิต นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้กับประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวกับผู้บริหารของหัวเว่ยว่า ”ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป และขอแสดงความยินดีด้วย”
“รางวัล PM’s Digital Awards เป็นรางวัลที่มอบให้สำหรับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สำหรับประเภทรางวัล PM’s Special Award: Digital International Corporation of the Year นั้นมีการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกองค์กรที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ไว้ในหลายด้าน ได้แก่ มีการวิจัยพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งภาคธุรกิจหรือบริการและสังคม มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยสำหรับประชาชน มีการลงทุนในประเทศไทยจนก่อให้เกิดการสร้างงาน การพัฒนาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยต่อยอดสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ โดยหัวเว่ยมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกและได้รับคะแนนสูงสุดจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมพิจารณาผลงานของผู้เข้าประกวดในครั้งนี้” นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าว พร้อมเสริมว่า “หลากหลายเทคโนโลยีดิจิทัลของหัวเว่ยมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์ในภาพสังคม อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การดูแลความปลอดภัยของระบบ วิกฤตด้านสาธารณสุข และอื่น ๆ รวมถึง โซลูชัน AI และเทคโนโลยี 5G มาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อสนับสนุนทีมแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และดีป้า เพื่อเปิดศูนย์ “Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC)” เร่งผลักดันการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี 5G และผสานความร่วมมือของทั้งระบบนิเวศ อันจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจของประเทศต่อไป ทั้งนี้ขอแสดงความยินดีกับหัวเว่ยกับรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ และขอบคุณสำหรับความตั้งใจในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอย่างดีมาโดยตลอด”
“ในฐานะตัวแทนของหัวเว่ย ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เรารับรางวัลพีเอ็มอวอร์ด ในวันนี้” นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวในระหว่างพิธีฯ “หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรในระยะยาวและพร้อมทำงานร่วมกับลูกค้า ตลอดจนพาร์ทเนอร์จากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นกลไกในการช่วยประเทศทรานสฟอร์มสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้พันธกิจ “Grow in Thailand, Contribute to Thailand” บริษัทมุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และก้าวสู่การเป็น “ดิจิทัลฮับ” ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และช่วยให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บริษัทจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเต็มรูปแบบ”
รางวัลในปีนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันถึงความเป็นผู้นำของหัวเว่ยในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย และยังเป็นการตอกย้ำพันธกิจของหัวเว่ยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ทำให้บริษัทได้รับรางวัลพิเศษในปีนี้ ได้แก่
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
- ศูนย์โอเพ่น แล็บ กรุงเทพ ศูนย์สนับสนุนแบบวัน-สต็อป ในการจัดหาโซลูชันอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์, บิ๊กดาต้า และคลาวด์คอมพิวติ้ง แพลตฟอร์มการตรวจสอบ และบริการฝึกอบรมด้านไอซีทีสำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- การทดสอบ 5G ในอีอีซี จัดการทดสอบเทคโนโลยี 5G (5G Test Bed) ในรูปแบบการใช้งานจริง ครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา (เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)
- ศูนย์ 5G EIC (Thailand 5G Ecosystem Innovation Center) ก่อตั้งขึ้นร่วมกับสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่เป็น Sandbox สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ นักพัฒนา สถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลสำหรับแอปพลิเคชันและบริการ 5G เร่งบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลคนรุ่นใหม่ของประเทศ และยกระดับทักษะด้านดิจิทัล
การพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าทางสังคม
- โซลูชั่น AI สำหรับโรงพยาบาลรัฐ ซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และ 5G ที่มอบให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคโควิด-19 เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- โซลูชันวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อการแพทย์ทางไกลของหัวเว่ย สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ระบบประชุมทางไกลแบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมฟังก์ชันหลากหลาย ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ แพทย์สามารถให้คำปรึกษาผ่านออนไลน์ทางไกลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้ป่วยก็จะได้รับการวินิจฉัย รักษา และติดตามผลผ่านอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ของตนเองได้
- รถอัจฉริยะไร้คนขับ ด้วยเทคโนโลยี 5G ทำหน้าที่ขนส่งเวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของบุคลากรแนวหน้า
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- หัวเว่ย อาเซียน อะแคเดมี่ จับมือเป็นพันธมิตรมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจ วิศวกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลให้ได้ 100,000 คน ภายใน 5 ปี
- คอร์ส 5G อบรมโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและทีมนักวิทยาศาสตร์จากหัวเว่ย หัวข้อการอบรม ได้แก่ เทรนด์ 5G แผนการให้บริการเชิงพาณิชย์ มาตรฐาน 5G กรณีการใช้งาน โมเดลธุรกิจจาก 5G เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดแบบหลากมิติ
หัวเว่ยยังได้ประกาศจับมือกับดีป้า เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศและขยายเครือข่ายอุตสาหกรรม 5G ของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในปีนี้ ทั้งสองจะร่วมจัดงาน 5G Summit สร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรม 5G (5G Industry Alliance) พร้อมจัดการแข่งขัน 5G Hackathon และเตรียมออกรายงานสมุดปกขาว (5G Whitepaper) เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 5G ให้ประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคอีกด้วย