โลกหลังโควิด-19 ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ‘วัคซีน’ กลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญของทิสทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวน ‘นักลงทุน’ ต้องเตรียมรับมือและวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้ตามทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาดและธุรกิจท่องเที่ยวของปี 2564 จะส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร ความร้อนแรง ‘สกุลเงินดิจิทัล’ น่าสนใจเเค่ไหน ‘ทองคำ vs Bitcoin’ เลือกอะไรดี ตลาดหุ้นไทยเเละสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในปีนี้มีอะไรบ้าง
วันนี้ Positioning จับประเด็นสำคัญจากงาน ‘THE WISDOM The Symbol of Your Vision: 2021 Economic Outlook & Investment Forum’ โดย เดอะวิสดอม กสิกรไทย มาฝากกัน
เศรษฐกิจ ‘ฟื้นตัว’ บนความไม่เเน่นอน
‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เเม่ทัพหญิงเเห่งค่าย KBank มองว่า เเม้สถานการณ์การเเพร่ระบาดโรคระบาดทั่วโลกจะมีเเนวโน้ม ‘ดีขึ้น’ กว่าปีก่อน เเต่ก็ยังเต็มไปด้วย ‘ความไม่เเน่นอน’ จากหลายปัจจัยโดยการเเพร่ระบาดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในช่วงต้นปี ได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว ทำให้ทิศทางของธุรกิจต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น
“แม้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเท่ารอบเเรก เเต่ผลกระทบได้ขยายวงกว้าง ผู้ประกอบการเเละร้านค้าในห้าง ยังต้องเเบกต้นทุนเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลงกว่า 80-90%”
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม เเละอสังหาริมทรัพย์ ที่มีรายรับหายไปติดต่อกันนานกว่า 12 เดือน นับเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อพยุงให้พวกเขาอยู่รอดผ่านวิกฤตนี้ไปได้
โจทย์สำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการควบคุมโควิด-19 ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน เพื่อให้สังคมมี ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (herd immunity) ช่วงเวลาเเละนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ เเละสิ่งที่ต้องจัดการหลังโควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาไทย ในปี 2564 จะมีราว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เป็น ‘ไฮซีซั่น’ เเละเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับคนที่ทำงานในภาคท่องเที่ยวไทย จะต้องได้รับวัคซีนเเล้วอย่างน้อย 2.2 แสนโดส ก่อนช่วงเดือนตุลาคม
อ่านเพิ่มเติม : ความหวัง ‘ท่องเที่ยวไทย’ เร่งฉีดวัคซีนให้ทัน ‘ไฮซีซั่น’ รับต่างชาติ 2 ล้านคน ระวัง ‘หนี้ครัวเรือน’ พุ่ง
ท่ามกลางความฝืดเคืองของเศรษฐกิจไทย KBank พบว่า เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากลูกค้า โดยประเมินจากความสามารถ ‘คืนเงินกู้’ ได้ในสัดส่วนที่ดีกว่าที่คาดไว้ มีการกลับมาชำระหนี้ได้ดีขึ้น เเม้จะต้องเจอการเเพร่ระบาดรอบใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ก็ตาม ซึ่งทางธนาคารจะยังดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป
“ประเด็นวัคซีน และการผลักดันมาตรการต่างๆ ของทางการไทย ย่อมมีผลต่อแนวโน้มผลตอบแทนตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า”
โดยทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ควรจับตา คือนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่อย่าง ‘โจ ไบเดน’ ที่ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูประเทศ ซึ่งจะมีผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในระยะยาวปรับขึ้น “คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะทยอยออกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในปี 2565”
ส่วนราคาน้ำมันนั้นจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ ควบคู่กับการปรับลดกำลังการผลิตของตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อราคาทองคำมากนัก“จากเงื่อนไขเศรษฐกิจเเละปัจจัยความไม่เเน่นอน จะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์แต่ละประเภทที่ต่างกัน นักลงทุนจะต้องจับจังหวะการลงทุนอย่างละเอียดเเละรอบคอบมากขึ้น พร้อมทั้งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”
ตลาดยังมีสภาพคล่อง ดอกเบี้ยต่ำ ดัน ‘คริปโต’ มาเเรง เเต่ ‘เสี่ยง’
เมื่อเจาะลึกไปที่ประเด็น ‘การลงทุน’ ในยามที่ตลาดมีความผันผวนสูง ‘ธิติ ตันติกุลานันท์’ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย ฉายภาพให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจและตลาดเงิน ทั้งในปัจจุบันเเละระยะต่อไปว่า ตอนนี้เริ่มมี ‘ข่าวดี’ เรื่องการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ ฉีดไปแล้ว 25% ส่วนสหราชอาณาจักร 35% เเละคาดว่าจะครอบคลุม 70% จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
ขณะที่ในไทย คาดว่าจะมีการกระจายฉีดวัคซีนสู่ระดับ 50% ได้ ต้องใช้เวลาถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก็ยังฉีดวัคซีนได้น้อย จึงมองว่า ‘ข่าวดี’ ของเศรษฐกิจไทยจริงๆ อาจจะได้เห็นกันในช่วงปีหน้า
เเม้ว่าการกระจายวัคซีนของไทยจะยังไม่ถึงขั้นสร้าง ‘herd immunity’ ได้เร็วภายในปีนี้ ก็มองว่ารัฐมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณา ‘การเปิดประเทศ’ เพราะไทยเป็นชาติที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมากกว่า 10% ของ GDP ดังนั้นการเปิดประเทศนานถึง 2 ปี จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก
“แม้รายได้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจะลดลง แต่ราคาหุ้นกลับไม่ลดลงตามไปด้วย”
โดยมองว่าการที่สภาพคล่องเยอะเกินไปก็ต้องระวัง เพราะคนจะไม่มองที่ความเสี่ยง เเต่จะไปเน้นหา ‘ผลตอบแทน’ ที่ได้มากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ภาวะ ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ เรายิ่งจะได้เห็นคนเเห่ไปเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่าง ‘คริปโตเคอเรนซี่’ สกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น
“การลงทุนใน Bitcoin ในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 540% เพราะตอนนี้เงินไม่มีที่ไป ปัจจัยหลักๆ มาจากนักลงทุนสถาบันเเละบริษัท เจ้าใหญ่ลงมาเล่นเเบบ ‘ชุบตัว’ ใหม่ ส่งผลให้ราคาขึ้น ต่างจากเดิมที่เคยเป็นรายย่อย การลงทุนก็ต้องมีการกระจายพอร์ตมากขึ้น”
จากการสำรวจความคิดเห็นของเหล่ามหาเศรษฐีเอเชีย ของ Lombard Odier ร่วมกับ KBank Private Banking พบว่า ผู้มั่งคั่งกว่า 78% มองว่าภาวะดอกเบี้ยตํ่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคหลังโควิด-19 และอาจดําเนินต่อเนื่องไปอีกทศวรรษ
อ่านเพิ่มเติม : เปิดความเห็น ‘เศรษฐีเอเชีย’ มองเทค บริหารเงินกงสี ความยั่งยืน ปรับพอร์ตลงทุนในตลาดผันผวน
สำหรับสถานการณ์ของ ‘ตลาดหุ้นไทย’ ตอนนี้ตลาดหุ้นอยู่ที่ราว 1500 จุด โดยปีนี้ประเมินว่า P/E Ratio (กำไรสุทธิต่อหุ้น) น่าจะอยู่ที่ราว 20-22 เท่า ซึ่งถือว่ายังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ขณะที่นักลงทุนเองก็ ‘ยอมซื้อ’ ในราคาที่สูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในอดีต P/E ratio ของไทยอยู่ที่ 17 เท่า เเละปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 30 เท่า แม้รายได้จะตกลง 36% สะท้อนให้เห็นว่าเหล่านักลงทุนมองว่า เศรษฐกิจไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไม่ไปได้ เพราะยังมีหลายบริษัทที่หลายธุรกิจที่ยังมีผลประกอบการที่เเข็งเเกร่ง
ปี 2564 ลงทุนอะไรดี ?
ด้านสินทรัพย์ที่น่าลงทุนเเละประเภทไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในปี 2564 นั้น ผู้บริหาร KBank มองว่าปียังเป็นช่วงที่ลงทุนลำบาก เพราะสินทรัพย์มีราคาเเพง ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เองก็ P/E ขึ้นมา 26 เท่า เเต่นักลงทุนก็ยังซื้อเพราะต้องหาผลตอบเเทนที่มากขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง
โดยในตลาดหุ้นไทย ธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้ดีก็มี อย่างกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจพลังงาน ฯลฯ ขณะที่สินทรัพย์ที่มองว่ายังสามารถหาจังหวะลงทุนได้ คือ ทองและน้ำมัน
ส่วนคำถามที่ว่า ‘ทองคำ หรือ Bitcoin’ อะไรน่าจะลงกว่ากันนั้น ส่วนตัวของธิติมองว่า Bitcoin ก็เป็นการลงทุนตามเทรนด์ที่ยังไปต่อได้ เเต่มีความเสี่ยงเเละความผันผวนสูง เพราะทองคำมีสถิติเเละตัวชี้วัดของราคา เเต่ Bitcoin วิเคราะห์ไม่ได้เเละเงินดิจิทัลไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ราคาขึ้นลงตามดีมานด์เเละซัพพลาย
“ผู้ลงทุนต้องทำใจรับความเสี่ยงที่มากกว่า ยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ จึงควรลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม ต้องมีเงินเย็นมากๆ เพื่อลงทุนระยะยาว เเต่ต้องติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิด มีวินัยในการลงทุนเเละตัดสินใจตัดขาดทุนได้”
เมื่อโลกเปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป เกิดธุรกิจใหม่เเละการปรับตัวของธุรกิจเก่าอย่างมากมาย ผู้ลงทุนจึงต้อง ‘เปลี่ยนวิธีคิดใหม่’ ตามไปด้วย