นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด เปิดเผยกรณีที่มีข่าวน้ำดื่มยันฮีวิตามินซี วอเตอร์ตรวจไม่พบสารวิตามินซีในน้ำนั้น เป็นการนำน้ำมาตรวจโดยไม่ใช่วิธีมาตรฐานสากล ทำให้ค่าที่ได้มีความเบี่ยงเบนจนไม่พบสารวิตามินในน้ำ ซึ่งกลายเป็นข่าวแล้วนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค จากเหตุดังกล่าว ทำให้กระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งไปถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นนทบุรี (สสจ.) เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำจากโรงงานผลิตโดยตรง โดยเก็บใน Lot และช่วงเวลาเดียวกันกับ Lot ที่เป็นข่าว
วันที่ 28 มกราคม 2564 ทางบริษัทยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ได้เข้าชี้แจงกับคณะอนุกรรมาธิการผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแทนจากหลายๆองค์กร อาทิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค, กองปราบปราม,นักวิชาการจากม.จุฬาลงกรณ์ และม.เกษตรศาสตร์ ร่วมรับฟังการชี้แจง โดยมีสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำน้ำไปตรวจโดยใช้เครื่อง (HPLC) ซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานสากลได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าสามารถใช้แยกสารประกอบที่ผสมอยู่ในน้ำตัวอย่างได้แม่นยำมีค่าเบี่ยงเบนน้อย
หลังจากนั้น ในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ได้มีประกาศรับรองจากสำนักคุณภาพและความปลอดภัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า น้ำยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์มีวิตามินซีผสมอยู่ในน้ำในปริมาณที่กำหนดตามมาตรฐานจริงตรงกับที่ได้ขออนุญาตไว้ (ตามเอกสารแนบ)
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ผลตรวจที่ได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.นนทบุรี) ระบุว่า น้ำดื่มยันฮี วิตามินซี วอเตอร์พบว่า มีวิตามินซีจริงตามมาตรฐานและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
“เราเชื่อมั่นว่า จากผลการทดสอบที่ได้มาตรฐานระดับสากล จะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและมั่นใจได้ว่า การดื่มน้ำยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์นั้น มีวิตามินซีผสมอยู่จริงตามข้อมูลในฉลาก และบริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาน้ำดื่มให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ภายใต้การพัฒนาสูตรแบบออแกนิค โดยทีมแพทย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ เพื่อสร้างความแตกต่างจากน้ำวิตามินยี่ห้ออื่นๆในท้องตลาด และครองความเป็นผู้นำตลาดน้ำวิตามินต่อไป” นพ.สุพจน์ กล่าว
สำหรับแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯ นพ.สุพจน์ กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อนนี้ จะส่งน้ำวิตามินซี รสชาติต่างๆ ออกสู่ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายอีก 20%
ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ ที่จะให้ความคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ทั้งในด้านการโฆษณา ด้านสัญญา ด้านคุณภาพและด้านความมีมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และในขณะเดียวกันก็จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ในด้านการร้องเรียนต่างๆว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะในการแข่งขันทางการค้ามักจะมีการร้องเรียนให้ร้ายป้ายสีกันหรือไม่ก็มีการกลั่นแกล้งกันอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้นเวลาเกิดประเด็นปัญหาไม่ว่าในด้านใดๆของผลิตภัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีหน้าที่ ที่จะต้องประสานงานให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลและเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆโดยตรง เป็นผู้ตรวจสอบหรือทดลองผลิตภัณฑ์ที่เป็นประเด็นปัญหา ให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามหลักการและมาตรฐานที่วางไว้ แล้วแจ้งให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส ถ้าผู้ประกอบการทำไม่ถูกต้องก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้
“คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดไม่เลือกปฏิบัติ เพราะเรามีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการด้วย” ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ กล่าวทิ้งท้าย