ทำไมจากมหกรรมช้อปปิ้ง ‘11.11’ ที่มีปีละครั้ง สู่ ‘Double Day’ ที่ต้องมีทุกเดือน

หากพูดถึงอีคอมเมิร์ซจะมีอยู่แคมเปญหนึ่งที่กลายเป็น ‘ภาพจำ’ หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฒนธรรม’ ไปแล้วก็คือแคมเปญ ‘Double Day’ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้จำกัดแค่โลกออนไลน์ แต่กลายเป็นแคมเปญที่แม้แต่โลก ‘ออฟไลน์’ ก็ใช้ แต่หากจำกันได้เมื่อก่อนแคมเปญ Double Day นี้จะมีอยู่แค่วันเดียวก็คือ ’11.11’ เท่านั้น แต่ทุกวันนี้กลับมี ‘ทุกเดือน’ คำถามคือ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอะไรในตลาดบ้าง?

จากวันคนโสดกลายเป็นวันที่ต้องมีทุกเดือน

หากฝั่งตะวันตกมี ‘Black Friday’ ที่เป็นแคมเปญลดราคาครั้งใหญ่ของปีที่ผู้บริโภคต่างรอคอย สำหรับฝั่งเอเชียก็มีวัน ‘คนโสด’ หรือ ’11.11’ ที่ ‘อาลีบาบา’ เป็นผู้บุกเบิกแคมเปญดังกล่าวจนกลายเป็นวัฒนธรรมของนักช้อปไปแล้ว สำหรับประเทศไทยก็ได้ ‘ลาซาด้า’ ที่นำเอาแคมเปญนี้เข้ามา

แคมเปญดังกล่าวสามารถเพิ่มยอดขายได้หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับวันธรรมดา อย่างแคมเปญ 11.11 ของลาซาด้าในปี 2020 ก็สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 20 เท่า จากความสำเร็จดังกล่าวเลยทำให้แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่หรือแม้แต่โลกของ ‘ออฟไลน์’ ต่างต้องผุดแคมเปญ 11.11 มาเพื่อแย่งลูกค้าบ้าง

จากนั้นผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ทั้งลาซาด้าและช้อปปี้ก็ไม่หยุดแค่วันที่ 11.11 แต่กลับอัดแคมเปญ ‘Double Day’ ในช่วงครึ่งปีหลังแทบทุกเดือนไม่ว่าจะ 8.8, 9.9, 10.10 ยาวไปถึง 12.12 นอกจากนี้ยังมีแคมเปญย่อย ๆ ที่จะมีทุกเดือนเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยลาซาด้าเปิดเผยว่าถ้าเป็นแคมเปญไม่ใหญ่ยอดขายจะเพิ่มจากวันปกติที่ 3-4 เท่า แต่ถ้าเป็นแคมเปญระดับ Mega จะเพิ่มได้ 15-20 เท่าเลยทีเดียว

สงครามยังไม่จบเลยต้อง ‘สาดเงิน’ กันต่อ

จากปกติแคมเปญใหญ่จะอัดใส่กันในช่วงครึ่งปีหลังเป็นหลัก เพราะครึ่งปีแรกไม่ใช่ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคจับจ่ายนัก แต่ในปี 2021 ก็เริ่มลามมาถึงครึ่งปีแรกอย่าง 3.3 ของลาซาด้าและ 4.4 ของช้อปปี้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ ‘อีคอมเมิร์ซไทย’ กำลังอยู่ในช่วง ‘ขาขึ้น’ เพราะการระบาดของ COVID-19 ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ใช้ออนไลน์มากขึ้น

โดยในปี 2020 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตถึง 81% มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท จากที่คาดไว้ว่าจะเติบโต 35% หรือมีมูลค่า 2 แสนล้านบาท และในปี 2021 ได้มีการคาดการณ์ว่าตลาดยังสามารถเติบโตได้อีกโดยอาจมีมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท แม้จะมีการเติบโตสูงแต่นี่ยังไม่ใช่ ‘จุดสิ้นสุด’

เพราะสัดส่วนของอีคอมเมิร์ซไทยเมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกยังมีมูลค่าเพียง 5% เท่านั้น ขณะที่ ‘จีน’ หรือ ‘อเมริกา’ มีสัดส่วน 15-20% นั่นแปลว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมาก และยังมีที่ว่างให้ ‘ผู้เล่นใหม่’ เข้ามาในตลาดได้อีก

อีกเหตุผลที่ต้องอัดแคมเปญใหญ่ตั้งแต่ต้นปีก็คือ สภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอัดแคมเปญใหญ่เพื่อกระตุ้น ‘กำลังซื้อ’ ของผู้บริโภคที่หดตัวลง นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคต้องคอยเฝ้าจอเพื่อรอของราคาสุดคุ้มกลายเป็นว่าระยะเวลาที่ใช้ในแอปฯ จึง ‘นานขึ้น’ อีกด้วย แน่นอนว่าลูกค้าก็ไม่หนีไปแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งลาซาด้าระบุว่าเมื่อเทียบกับวันธรรมดาแล้ว ลูกค้าใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้นจาก 10 เป็น 16 นาที

แค่เผาเงินใครก็ทำได้?

ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ยอมรับว่าการทำแคมเปญส่วนลดทุกเดือนนั้นคงไม่สามารถสร้างความแตกต่างในตลาดได้ ดังนั้น การวางรากฐานของอีโคซิสเต็มส์ อาทิ เพย์เมนต์ และระบบโลจิสติกส์ การสร้างเอนเกจเมนต์กับลูกค้าโดยใช้กลยุทธ์ Shoptertainment รวมถึงเรื่องของ Big Data ที่จะช่วยให้ฝั่งร้านค้าของของได้ดีขึ้น สามารถนำเสนอโปรโมชันได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น เพื่อมัดใจให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำ

เพราะการแข่งขันในปัจจุบันไม่ใช่แค่ต้องแข่งกับอีมาร์เก็ตเพลสด้วยกัน แต่ ‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ ก็เป็นอีกคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากกินสัดส่วนตลาดไปถึง 50% ดังนั้น การดึงร้านจากโซเชียลฯ ให้ขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม รวมถึงเพิ่มลูกค้าให้ใช้งานลาซาด้าประจำจึงถือเป็นอีกความท้าทายในการทำตลาด ซึ่งลาซาด้าตั้งเป้าเติบโตให้ได้ 100% หรือ 3 เท่าตัว ทั้งใน 3 ส่วนหลัก คือ ยอดขาย, ออเดอร์การสั่งซื้อ และจำนวนผู้ขายให้ได้ในปีนี้

ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)

ตราบใดที่ตลาดยังไม่ถึงทางตันและคู่แข่งยังคงทุ่มงบในการทำโปรโมชัน ‘Double Day’ คงจะอยู่คู่อีคอมเมิร์ซไปอีกนาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ‘แพลตฟอร์ม’ หรือ ‘ผู้บริโภค’ ใครจะหมดเงินก่อนกัน