แอปฯ ส่งอาหาร Deliveroo เตรียมขาย IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นลอนดอน

จากสตาร์ทอัพสู่บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ Deliveroo แอปพลิเคชันรับเดลิเวอรี่อาหาร เตรียมเปิดขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนวันที่ 31 มีนาคม 2021 และจะกลายเป็นการขาย IPO ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นลอนดอน แม้จะมีปัจจัยลบจากประเด็นสิทธิแรงงานของไรเดอร์ก็ตาม

Deliveroo สตาร์ทอัพอังกฤษจะเปิดขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน วันที่ 31 มีนาคม 2021 โดยบริษัทระบุจะเปิดขายหุ้นในราคาระหว่าง 3.90 – 4.10 ปอนด์ต่อหุ้น จำนวนหุ้นที่ขาย 256,456,256 หุ้น เท่ากับเม็ดเงินระดมทุนขั้นต่ำที่จะได้คือ 1 พันล้านปอนด์ เป็นการขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นลอนดอน และมูลค่าบริษัทที่ได้รับการประเมินจะอยู่ที่ประมาณ 7.6 – 7.85 พันล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้วราคาเพดานของหุ้น Deliveroo ถูกบริษัทแจ้งปรับลดลงมาจาก 4.6 ปอนด์ต่อหุ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2021 นี้เอง โดยบริษัทกล่าวว่า เป็นเพราะ “ความผันผวน” ในตลาดหุ้นช่วงนี้ แต่มีการวิเคราะห์กันว่า บริษัทยอมปรับลด เนื่องจากนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนเกิดความไม่มั่นใจในประเด็นสิทธิแรงงานของ “ไรเดอร์” หรือคนขับรถส่งอาหารของแอปฯ

ประเด็นสิทธิแรงงานของคนขับเป็นเรื่องสำคัญกับธุรกิจ Deliveroo เพราะก่อนหน้านี้ Uber บริษัทเรียกรถโดยสาร เพิ่งจะถูกศาลฎีกาของอังกฤษสั่งให้ปฏิบัติกับคนขับรถของแอปฯ ในฐานะ “พนักงาน” ของบริษัท ไม่ใช่พาร์ตเนอร์ แปลว่า Uber จะต้องมีค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินบำนาญ ประกันภัย ให้เสมือนพนักงานประจำ เท่ากับบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต และหากประเด็นนี้เกิดขึ้นกับ Deliveroo ด้วย ธุรกิจก็จะคืนทุนได้ยากขึ้น

Deliveroo หนึ่งในแพลตฟอร์มบริการเดลิเวอรี่ที่กำลังมาแรงในทวีปยุโรป เริ่มต้นให้บริการที่อังกฤษ (Photo by Europa Press News/Europa Press via Getty Images

ไรเดอร์ของ Deliveroo เองเพิ่งประท้วงบริษัทเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2021 เรื่องค่าจ้างอันน้อยนิด เพราะแอปฯ จ่ายค่าแรงต่ำสุดเพียง 2 ปอนด์ต่อชั่วโมง (ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำที่อังกฤษกำหนดสำหรับคนอายุ 25 ปีขึ้นไปคือ 8.72 ปอนด์ต่อชั่วโมง)

แต่ทางแอปฯ ก็ยังคงยืนยันว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้ดีกับไรเดอร์มากกว่า เพราะการไม่จ้างประจำทำให้มีคนขับที่รับงานเป็นอาชีพเสริมได้ เลือกเวลาทำงานเองได้ นอกจากนี้ บริษัทเคยถูกฟ้องร้องและชนะในชั้นศาลฎีกาในประเด็นสถานะพนักงานมาแล้ว 2 ครั้งด้วย

 

ยังขาดทุนแต่นักลงทุนมั่นใจ

เมื่อปี 2020 แอปฯ Deliveroo ถือว่าได้อานิสงส์บวกอย่างมากจากโรคระบาด เพราะการล็อกดาวน์ทำให้คนออกจากบ้านยากหรือไม่อยากออกมา การสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่จึงเติบโตขึ้น และไรเดอร์ก็เพิ่มขึ้นด้วยเพราะมีคนตกงานหันมาทำอาชีพนี้แทน

แม้จะเติบโตสูง แต่ปี 2020 นั้น Deliveroo ก็ยังขาดทุน 226.4 ล้านปอนด์ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนหลายรายก็ยังสนใจแอปฯ นี้เพราะมองย้อนกลับไปในยุคแรกของ Facebook กับ Amazon สองบริษัทนี้ก็เคยขาดทุนต่อเนื่องหลายปีเหมือนกัน กว่าจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ทำกำไรมหาศาล

“เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่การเติบโตหาได้ยาก ไม่สดใส และนักลงทุนมีความยินดีที่จะจ่ายเพิ่มให้กับการเติบโตใดๆ ที่พวกเขาหาได้” ดันแคน ลามอนต์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์จาก Schroders กล่าว “ตราบเท่าที่นักลงทุนยังยินดีจะจ่ายให้กับการขาดทุน บริษัทแบบ Deliveroo ก็ยังไปต่อได้ในเส้นทางของการละลายเงินเพื่อขยายตลาด และมีกำไรในระยะยาว”

Deliveroo ก่อตั้งเมื่อปี 2013 ปัจจุบันขยายไป 12 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, เบลเยียม, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, สเปน, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, สิงคโปร์, UAE และคูเวต

Source: The Guardian, Reuters