หัวเว่ย เผยรายงานประจำปี 2563 แม้การเติบโตทางธุรกิจจะชะลอตัว แต่ผลประกอบการส่วนใหญ่ของบริษัทยังเป็นไปตามคาดการณ์ โดยทำรายได้จากยอดขายทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 891.4 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า พร้อมด้วยกำไรสุทธิที่ 64.6 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3.2% จากปีที่แล้ว
ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจโครงข่ายของหัวเว่ยได้ช่วยให้ผู้ให้บริการมากกว่า 1,500 รายในกว่า 170 ประเทศ ทั่วโลก นำเสนอบริการได้อย่างมีความเสถียรในช่วงล็อคดาวน์จากโควิด-19 ซึ่งบริการดังกล่าวช่วยมอบบริการโทรคมนาคม การเรียนรู้ออนไลน์ และออนไลน์ช้อปปิ้งให้กับผู้คนทั่วโลก หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเพื่อมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อที่เหนือกว่า และผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกเพื่อส่งมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อที่ดีขึ้นไปอีกระดับ รวมทั้งเดินหน้าผลักดันโครงการนวัตกรรมด้าน 5G กว่า 3,000 โครงการ ในกว่า 20 อุตสาหกรรม เช่น เหมืองถ่านหิน การผลิตเหล็กกล้า ท่าเรือ หรือภาคการผลิตอื่นๆ
ในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจองค์กรของหัวเว่ยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนานวัตกรรมโซลูชันสำหรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ และเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเกิดจากการร่วมมือและประสบความสำเร็จไปด้วยกัน ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น หัวเว่ยได้ส่งมอบองค์ความรู้ด้านเทคนิคและโซลูชันต่าง ๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสในครั้งนี้ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือโซลูชัน AI บนหัวเว่ยคลาวด์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค ช่วยลดภาระด้านโครงสร้างทางสาธารณสุขให้กับโรงพยาบาลได้ทั่วโลก นอกจากนี้ หัวเว่ยยังทำงานร่วมกับพันธมิตรเปิดตัวแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ทำงานบนคลาวด์สำหรับนักเรียนระดับประถมและมัธยมกว่า 50 ล้านคนอีกด้วย
การเปิดตัวระบบปฏิบัติการ HarmonyOS และอีโคซิสเต็ม Huawei Mobile Services หรือ HMS เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์จากกลุ่มธุรกิจสำหรับผู้บริโภคของหัวเว่ยในการมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตในยุค AI แบบไร้รอยต่อ (1 + 8 + N) เพื่อส่งมอบประสบการณ์อัจฉริยะให้กับผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมอุปกรณ์และสถานการณ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอัจฉริยะ ฟิตเนสและสาธารณสุขอัจฉริยะ สมาร์ทโฮม การเดินทางที่ง่ายขึ้น หรือแม้แต่เรื่องของความบันเทิง
นายเคน หู (Ken Hu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยสามารถเดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่งแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบาก เราเดินหน้ารังสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าของเรา ช่วยต่อสู้กับโรคระบาด สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้สังคมทั่วโลกเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ เรายังใช้โอกาสนี้ในการพัฒนากระบวนการการดำเนินธุรกิจของเรา ซึ่งช่วยให้เราสามารถทำผลประกอบการได้ในระดับใกล้เคียงกับที่คาดการณ์เอาไว้”
หัวเว่ยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างมูลค่าร่วมกันให้แก่ภาคสังคม และกำลังทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบรับกับเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จร่วมกัน
ในด้านการเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเตรียมความพร้อมให้กับอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล หัวเว่ยได้เปิดตัวโครงการ Spark Program ที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนด้านเทคนิค เงินทุน การให้คำปรึกษา และการฝึกอบรมให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยี นอกจากนี้ ศูนย์ 5G Ecosystem Innovation Center (EIC) ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ยยังทำหน้าที่เป็นแหล่งจัดแสดงและสาธิตนวัตกรรมด้าน 5G ในภูมิภาคอาเซียน
เพื่อรับมือกับปัญหาด้านบุคลากร หัวเว่ยได้เปิดตัวโครงการต่าง ๆ มากมายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึง HUAWEI ASEAN Academy, Digital Training Bus และโครงการ Seeds for the Future เพื่อส่งมอบองค์ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรในด้านดิจิทัล โดยหัวเว่ยตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรด้านไอซีทีอีกอย่างน้อย 300,000 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายในเวลาห้าปีต่อจากนี้
“เราจะยังคงทำงานร่วมกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ของเราอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อตอบรับกับความก้าวหน้าในภาคสังคม การเติบโตในภาคเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายเคน หู กล่าว
ข้อมูลด้านการเงินทั้งหมดในรายงานประจำปี พ.ศ. 2563 ได้รับการจัดทำอย่างเอกเทศโดย KPMG ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรด้านการทำบัญชีรายใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสี่ของโลก ทั้งนี้ ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานประจำปี 2563 ได้ที่ https://www.huawei.com/en/annual-report/2020