BEAUTY พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ รุกตลาดร้านค้าปลีกรายย่อยในประเทศ เจาะกลุ่มผู้ค้าส่งผลิตภัณฑ์ความงาม เผยเป้าปีนี้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย 8 ราย ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า16,000 ร้านค้า

BEAUTY พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ รุกตลาดร้านค้าปลีกรายย่อยในประเทศ ปั๊มยอดขาย ขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค (Consumer Product) เจาะกลุ่มผู้ค้าส่งผลิตภัณฑ์ความงามรายใหญ่ และรายย่อยในหัวเมืองใหญ่และต่างอำเภอ  ตั้งเป้าแต่งตั้ง Distributor รายใหญ่ 8 ราย ครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 16,000 ร้านค้า

ดร.พีระพงษ์  กิติเวชโภคาวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) (BEAUTY) ผู้นำธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม สุขภาพและบำรุงผิวด้วยแนวคิด Live a beautiful life ภายใต้แบรนด์ Beauty Buffet , Beauty Cottage , GINO McCRAY , SCENTIO , MADE IN NATURE เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทปรับกลยุทธ์และแผนธุรกิจตามสถานการณ์และสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งปรับรูปแบบช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นฐานการขยายตลาดต่อเนื่อง มุ่งเน้นขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีการขยายตัวสูง (Re-new) และมีโอกาสเติบโต เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะการเปิดสาขาร้านค้าปลีก

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศ บริษัทจะมุ่งเน้นช่องทางสินค้าอุปโภค (Consumer Product) เจาะกลุ่มผู้ค้าส่งผลิตภัณฑ์ความงามรายใหญ่ และรายย่อยในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และต่างอำเภอ (Local Distributor) เพื่อบริหารการกระจายสินค้าและทำตลาดทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการขายจาก 1% เป็น 10% โดยปีนี้มีแผนแต่งตั้ง Distributor รายใหญ่ 8 ราย ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันแต่งตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน    5 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต 49 จังหวัด   คือ เขตภาคเหนือตอนบน  8 จังหวัด, เขตภาคตะวันตก 8 จังหวัด, เขตภาคใต้ 14 จังหวัด, เขตภาคตะวันออก 7 จังหวัด และเขตภาคอีสานตอนบน 12 จังหวัด ส่วน 3 รายที่เหลือคาดว่าจะแต่งตั้งแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/64

“เชื่อว่าช่องทางจำหน่ายใหม่ เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่าย และทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และยังมองเห็นโอกาสทางการตลาดจากการขยายตัวของช่องทางดังกล่าว จากข้อมูลการสำรวจของนีลเส็นประเทศไทยปี 2561 พบว่ามีจำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิมทั่วประเทศ  480,000 กว่าร้านค้า

โดย BEAUTY  ได้วางเป้าหมายในปีนี้ไว้ จำนวน 16,696 ร้านค้า หรือคิดเป็น 3.5 % ของร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วประเทศ ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสเติบโตในช่องทางนี้อีกมาก อีกทั้งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น จากการหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้สะดวก ประกอบกับสินค้า BEAUTYยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง ตอบโจทย์กำลังซื้อปัจจุบันของผู้บริโภค” ดร.พีระพงษ์  กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาด บริษัทจะร่วมกับตัวแทนจำหน่ายจัดกิจกรรมทางการตลาด สนันสนุนการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย POP Shef Talker เพื่อสร้างการรับรู้ต่อกลุ่มเป้าหมาย จัดโปรโมชั่นพิเศษ รวมทั้งใช้กลยุทธ์ O2O ออฟไลน์และออนไลน์ผสานเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการขาย อีกทั้งยังมีการคัดสรรผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับช่องทางจำหน่ายดังกล่าว ในแต่ละพื้นที่ อาทิ การปรับขนาดและราคาสินค้า เพื่อตอบโจทย์และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับกลุ่มลูกค้า

ภาพรวมตลาดเทรดดิชั่นนอลเทรด ที่เกี่ยวข้องกับความงาม ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่ายังมีการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์ว่ามีมูลค่าตลาดสูงถึง 3-5 หมื่นล้านบาท บริษัทตั้งเป้าหมายแชร์ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 5-10% ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ช่วยเพิ่มศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง เพราะความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านความงามและสุขภาพมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ

แหล่งที่มาข้อมูล : www.krungsri.com , www.longtunman.com