โลกตะลึง Anthony Tan ซีอีโอผู้พา Grab แจ้งเกิดดีล SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

โลกรู้มาตลอดว่าซีอีโอของ Grab แสดงความมุ่งมั่นที่จะเป็นเบอร์ 1 ในสังเวียนธุรกิจ ผลงานที่ชัดเจนของ Anthony Tan คือการพา Grab ขึ้นเป็นแอปฯ ยอดนิยมในการจองรถแท็กซี่ สั่งอาหาร และชำระเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งให้ Grab เป็นสตาร์ทอัพระดับภูมิภาคที่ได้รับเงินสนับสนุนท่วมท้นที่สุด จนสามารถเอาชนะ Uber Technologies ได้แบบไม่ต้องเจ็บตัวมากไปกว่านี้

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา Anthony Tan สร้างสถิติใหม่อีกครั้งเมื่อ Grab Holdings ตกลงที่จะเข้าจดทะเบียนใน Nasdaq ผ่านดีลควบรวมกิจการมูลค่า 39,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับบริษัท Altimeter Growth Corp.

ข้อตกลงนี้ถูกจับจ้องในฐานะการควบรวมกิจการที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรูปแบบ SPAC (special purpose acquisition company) หรือบริษัทที่ตั้งมาเพื่อซื้อกิจการเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ ผลคือการระดมทุนมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์จากนักลงทุนทั่วโลกในรอบนี้ ถูกกำหนดให้เป็นการเสนอขายหุ้น SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยบริษัทสัญชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทำไม Grab ถึงทำได้? บางคำตอบยกเครดิตให้ Anthony Tan เรื่องนี้ Chua Kee Lock ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Vertex บริษัทร่วมทุนในสิงคโปร์ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มแรกของ Grab กล่าวว่า “Anthony โฟกัสไปที่สิ่งที่ต้องทำ และดำเนินการได้ดีแถมยังเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ คู่กับการหา ที่ปรึกษาส่วนตัวชั้นยอด โดยที่ไม่ลืมคิดถึงธุรกิจใหญ่อื่นๆ ซึ่งอาจเสริมไปกับบริการหลักได้ด้วย

ในขณะเดียวกัน สื่อบางสำนักวิเคราะห์ว่าสายสัมพันธ์ใน Harvard” ของ CEO Grab ยังเป็นหมากตาสำคัญที่เปิดประตูให้ Grab กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในฐานะดีล SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งงานนี้ผู้ชนะที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากดีลบันลือโลกไม่ได้มีเพียง Anthony Tan แต่ยังมี Uber และ SoftBank ด้วย 

กลยุทธ์แจ่ม คอนเนกชั่นเลิศ

ดีลที่เกิดขึ้นถูกมองว่าสามารถพิสูจน์ความถูกต้องของกลยุทธ์ไฮเปอร์โลคัลของ Anthony ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab วัย 39 ปีในการเจาะตลาดท้องถิ่นทุกหัวระแหง และขยายตัวรวดเร็วต่อเนื่องในภูมิภาคที่เศรษฐกิจดิจิทัลมีแนวโน้มจะบูมขึ้นอีก 3 เท่าตัว เป็น 309,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 

กลยุทธ์ไฮเปอร์โลคัลถือเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้ Grab เติบใหญ่จนมีพนักงานมากกว่า 7,000 คน นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ Anthony Tan และผู้ร่วมก่อตั้ง Tan Hooi Ling ซึ่งไม่ได้เกี่ยวดองเป็นญาติกันนั้นได้สร้าง Grab จากการแข่งขันสร้างโปรเจกต์ร่วมทุน venture competition plan ที่ Harvard Business School ในปี 2011 ทั้งคู่เปิดตัวแอปเรียกแท็กซี่ในมาเลเซียช่วงเดือนมิถุนายน 2555 จากนั้นจึงขยายเข้าสู่ประเทศอื่นในระดับภูมิภาค

เวลานั้นหนุ่มแน่นอย่าง Anthony ผู้มีดีกรีเป็นทายาทของครอบครัวมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยติดอันดับท็อปของมาเลเซีย ได้ตัดสินใจออกจากกงสีแล้วหันมาเป็น entrepreneur เจ้าของกิจการของตัวเอง การตัดสินใจนี้ทำให้นักลงทุนมองว่า Anthony เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ จุดเด่นนี้ถือว่ามีประโยชน์มากในการแก้ปัญหาเมื่อครั้งที่ Grab ต้องต่อสู้กับ Uber จนสูญเงินไปมหาศาลต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ศึกยืดเยื้อ รายงานระบุว่าเวลานั้น Anthony ปลุกใจพนักงานให้มองเห็นพลังของแชมป์ในท้องถิ่นซึ่งจะชนะได้ก็ต่อเมื่อยังคงยึดมั่นในความเชื่อและจุดแข็งของตัวเอง

ในที่สุด Uber ตัดสินใจออกจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2018 โดยขายธุรกิจให้กับ Grab และได้สิทธื์รับส่วนแบ่งรายได้ผ่านหุ้น Grab ที่ Uber ถือไว้จำนวนหนึ่ง การจูบปากกันของ Grab และ Uber กลายเป็นรากฐานสำหรับธุรกิจจัดส่งอาหารของ Grab ซึ่งกลายเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทเนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แล้วสั่งอาหารและของชำทางออนไลน์ตั้งแต่ปีที่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ของโควิด -19 มีผลกระทบจนทำให้ Grab ต้องผ่าตัดตัวเองให้อยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตผู้คนไม่เรียกรถเพื่อเดินทาง ดังนั้นความต้องการบริการเรียกรถที่หดตัวจึงบีบให้ Grab ต้องปลดพนักงานประมาณ 5% ในช่วงที่ผ่านมา

Anthony กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า 1 ปีที่แล้ว หลายคนรู้สึกเหมือนว่าโลกกำลังจะถึงจุดจบ ในฐานะผู้ประกอบการ หลายคนต้องผ่านจุดต่ำสุดและจุดสูงสุดที่บ้าคลั่งเหล่านี้ไปให้ได้ (these crazy lows and crazy highs) เรื่องนี้อาจทำให้ Anthony เครียด แต่ไม่ได้ดับไฟในใจของ Anthony เหมือนที่ผู้เคยร่วมงานกับ Anthony เผยว่าซีอีโอของ Grab คนนี้มีพลังงานมหาศาล และหลงใหลในการปลุกปั้นบริษัทแบบไม่รู้เบื่อ 

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านในสิงคโปร์ แต่ Anthony มักใช้เวลา 15 ชั่วโมงต่อวันที่โต๊ะ standing desk หรือโต๊ะทำงานแบบยืน และบางครั้งก็ฟิตกล้ามออกกำลังกายด้วยดัมเบลล์ไปด้วยระหว่างคิดงาน

แม้ Anthony มักจะพูดติดตลกว่าตัวเขาและภรรยาต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกวัยเตาะแตะทั้ง 3 รวมถึงน้อง 4″ ที่ทั้งคู่กำลังวางแผนจะมีเพิ่มอีก แต่ภาระครอบครัวไม่ใช่สิ่งเดียวที่ผลักดัน เพราะ Frank Cespedes วิทยากรอาวุโสของ Harvard Business School ผู้ดูแลทีมของ Anthony ในการแข่งขันแผนธุรกิจ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า Anthony เป็นคนที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจได้กว้าง ซึ่งหลายครั้งเป็นบริการสำคัญที่อาจเสริมไปกับบริการอื่นที่นอกเหนือจากการนั่งรถโดยสาร เป็นนิสัยการมองภาพกว้างและมองได้ครบจนนำพาบริษัทให้เติบโตหลายด้าน

ไม่เพียงเด่นเรื่องกลยุทธ์ Anthony ยังเด่นเรื่องคอนเนกชั่น ที่ผ่านมาโลกรู้ดีว่า Anthony ขอคำแนะนำจากนักลงทุนมากมาย ทั้ง Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft รวมถึง Masayoshi Son ซีอีโอของ Softbank ซึ่ง Anthony เรียกเต็มปากว่าที่ปรึกษาส่วนตัวของเขาผู้มีส่วนช่วยให้ Grab ลุยตลาดเดลิเวรี่หลายด้าน และขยายธุรกิจบริการชำระเงินในที่สุด

Iron Man แพ้ Superman

ในขณะที่ Grab ยังคงขาดทุนเหมือนบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่เติบโตหลายราย แต่ Anthony เผยว่า Grab เริ่มคิดถึงการเข้าตลาดเมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้ว จนมาปีนี้ที่บริษัทพิจารณาจริงจังถึงรูปแบบการควบรวมกิจการ SPAC หลังจากได้รับข้อเสนอมากมาย

แหล่งข่าววงในของรอยเตอร์ส บอกว่าคนที่ Grab เรียกกระบวนการเสนอขายหุ้น IPO ด้วยชื่อโค้ดเนมว่า “Iron Man” ในขณะที่แนวทาง SPAC ถูกเรียกว่า “Superman” เมื่อสอบถามไปยัง Anthony ซีอีโอหนุ่มจึงตอบว่า Superman นั้นเป็นคนดีและเป็นคนที่จะออกไปรับใช้สังคม

Anthony ยังเอ่ยกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส ว่าการระดมทุนของ Grab จะส่งผลดีต่อคู่แข่งทั้ง Gojek และ Sea ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสตาร์ทอัพรายอื่นในภูมิภาคจะสามารถดึงดูดเงินทุนได้มากขึ้นหลังจาก Grab แสดงให้เห็นแล้วว่านักลงทุนสามารถสร้างรายได้คุ้มค่า และสามารถ exit หรือขายออกไปได้อย่างคล่องตัว

หากจะวิเคราะห์แล้ว แม้เอเชียแปซิฟิกจะถูกมองว่าเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสยิ่งใหญ่บนประชากร 650 ล้านคน แต่ความหลากหลายของตลาดทำให้บริษัทระดับโลกบางแห่งไม่สามารถเติบโตได้เร็วอย่างที่หวังไว้ สำหรับ Grab ความสำเร็จส่วนใหญ่ของ Grab เชื่อว่าเกิดจากการไม่หยุดปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นหรือ localise ตัวอย่างที่สำคัญคือ Grab ยอมรับเงินสด สวนทางกับ Uber ที่อนุญาตให้ชำระเงินด้วยบัตรเท่านั้น นอกจากนี้ Grab ยังย้ายไปให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีการจราจรคับคั่ง ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เฉียบคมก่อนใคร

Keith Magnus ประธานร่วมวาณิชธนกิจ Evercore ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของ Grab เกี่ยวกับข้อตกลง SPAC มองว่าการโฟกัสที่เฉียบคม ทำให้ Grab สามารถฝังรากลึกในระบบอีโคซิสเต็มและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวอาเซียน ขณะเดียวกัน การย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่สิงคโปร์ ก็ทำให้ Grab ได้เข้าถึงนักลงทุนและหัวกะทิบุคลากรคนเก่งระดับโลกด้วย

Harvard เปิดประตูได้

ในอีกมุม สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า Grab นั้นเคยมีแผนควบรวมกิจการกับ Gojek แต่แผนนี้ล้มไปในช่วงธันวาคม 63 เพราะพิษ Covid-19 ที่ทำให้ดีมานด์ในตลาด ride-hailing ลดฮวบ 

เวลานั้น Anthony Tan ไม่หมดหวังที่จะนำ Grab เข้าตลาด จึงหันมาใช้ช่วงต้นปี 64 ในการใช้สายสัมพันธ์หรือคอนเนกชั่นให้มีการแนะนำ Anthony ให้รู้จักกับ Brad Gerstner นักลงทุนใน Silicon Valley ผู้ก่อตั้ง Altimeter Capital Management ทั้งสองคนแม้จะมาจากคนละฟากโลก แต่ก็มีอะไรที่เหมือนกันมากมาย ทั้งคู่เป็นศิษย์เก่าของ Harvard Business School และทั้งคู่ตัดสินใจหันหลังให้ธุรกิจของครอบครัว มาตั้งบริษัทของตัวเอง

ในช่วงเวลา 3 เดือนก่อนที่ทั้งคู่จะประกาศดีล SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Anthony Tan เล่าว่าหลังจากการแนะนำครั้งแรก Gerstner ก็เรียกเพื่อนหลายคนมาคุยด้วย ทีมเพื่อนกลุ่มนี้มีทั้ง Rich Barton แห่ง Zillow Group Inc. และ Dara Khosrowshahi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Uber Technologies Inc. ซึ่งเป็นสมาชิกบอร์ดบริหาร Grab ด้วย

ในที่สุด Anthony ก็ผ่านการทดสอบ ทำให้ Grab พร้อมเข้าตลาดด้วยวิธี SPAC บนมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์จากคอนเนกชั่นที่มี การจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอย่าง Harvard ไม่ได้ช่วยเปิดประตูให้ Anthony และ Grab เท่านั้น แต่ Gerstner ยังได้ลงทุนใน Coupang Inc. ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของเกาหลีที่ก่อตั้งโดย Bom Kim ซึ่งเข้าเรียนที่ Harvard Business School ในช่วงเวลาเดียวกันกับ Anthony ก่อนที่ Kim จะลาออกไปก่อน ขณะเดียวกัน Gojek คู่แข่งของ Grab ก็ก่อตั้งโดย Nadiem Makarim เพื่อนร่วมชั้นเรียนของ Anthony ที่ Harvard Business School ซึ่งปัจจุบัน Nadiem Makarim ก็ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอินโดนีเซีย

ปรากฏว่าเม็ดเงินหลายพันล้านถูกสร้างขึ้นจากชั้นเรียนนั้นตรงนี้ Gerstner นักลงทุนรายใหญ่วัย 49 ปีผู้เรียนที่ Harvard ช่วงปี 2542-2543 คำนวณว่าบริษัททั้ง 3 ของเขาและกลุ่มแก๊งนั้นมีตัวเลขประเมินมูลค่ารวมกันแล้วประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ในกลุ่มนี้รวมบริษัท Coupang ที่มีมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์หลังจากการเข้าตลาดครั้งแรกในเดือนมีนาคม

ที่สุดแล้ว Gerstner มองว่ายุคนี้เป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังหดตัว ทำให้ผู้นำที่มีฝีมือท็อปฟอร์มน่าตื่นเต้นที่สุดในนาทีนี้คือผู้ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ Anthony Tan กลายเป็นซีอีโอที่โลกให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในวันที่ Grab สามารถแจ้งเกิดดีล SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ได้.

ที่มา :