เปิด 4 แกน ‘AIS 5G’ หนุนสาธารณสุขไทยสู้ ‘โควิดระลอก 3’ ความท้าทายของทำงานแข่งกับเวลา พาประเทศฝ่าวิกฤต


ตั้งแต่ที่ ‘เอไอเอส’ (AIS) รับไลเซนส์ 5G จากกสทช. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 หลังจากนั้น 1 เดือน ประเทศไทยก็เจอกับวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ดังนั้น ช่วงปลายเดือนมีนาคมเอไอเอสจึงได้นำ 5G มาสนับสนุนทางการแพทย์ ผ่านแคมเปญ ‘5G สู้ภัยโควิด’ แน่นอนว่าการระบาดระลอกที่ 3 นี้ เอไอเอสก็ยังเดินหน้าใช้ 5G ช่วยเหลือภาคสาธารณสุขไทยฝ่าวิกฤตในครั้งนี้

ย้อนรอยใช้ 5G สู้โควิด

ย้อนไปที่การระบาดของ COVID-19 ในรอบแรก เอไอเอสมีโครงการ ‘AIS 5G สู้ภัยโควิด’ โดยให้การสนับสนุนทั้งการติดตั้งเครือข่ายสื่อสารในพื้นที่โรงพยาบาล สนับสนุนซิมการ์ด และ SMS ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้บริการ Telemedicine มีการนำหุ่นยนต์ไปให้บริการเพื่อลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์

และในการระบาดครั้งที่ 2 เอไอเอสก็เป็นผู้ให้บริการสื่อสารรายแรกที่สามารถลงพื้นที่ติดตั้งเครือข่ายสื่อสารสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสนามแห่งแรก ณ จ.สมุทรสาครได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีการนำร่องกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ “Digital Yacht Quarantine” ด้วย NB-IoT และสายรัดข้อมืออัจฉริยะ

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมาเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณเจ้าแรกๆ ที่ลงพื้นที่ส่งมอบเน็ตเวิร์คเพื่อให้บริการแก่ทีมสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล รวมถึงผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวภายในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ซึ่งไม่ใช่การติดตั้งเครือข่าย แต่ยังคิดเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการใช้เทคโนโลยี 5G มาช่วยแก้ปัญหาควบคู่กันไปด้วย

4 แกนสู้โควิดระลอก 3

สำหรับการระบาดของโควิดระลอก 3 นั้น เอไอเอสได้นำ 5G มาช่วยเหลือผ่าน 4 แกน ได้แก่

1. ติดตั้งเครือข่าย AIS 5G ,4G, Free Wifi ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียง ทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย, การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวล มีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ

2. ร่วมกับ “Me -More” ในการทำแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เทคโนโลยีที่ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาล ในการติดต่อสื่อสาร กับผู้ป่วย ที่ช่วยลดการสัมผัส และลดความแออัด

3. 5G AI อัจฉริยะ โดยร่วมมือกับราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย คือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยการนำ AI CT Scan ปอด เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อ COVID-19

โดย AI สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ความแม่นยำสูงสุดในการวินิจฉัยสูงถึง 96% ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจ COVID-19 ช่วยลดการใช้ PPE และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

4. อสม. ปัจจุบันมี อสม.มากกว่า 5 แสนรายที่ใช้งาน แอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ช่วยในการรายงาน การคัดกรอง เฝ้าระวัง รวมถึงติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางของกลับบ้านของคนเมือง ยิ่งจะทำให้การทำงานของ อสม.ต้องยิ่งมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม

“ทั้ง 4 แกนไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราทำ แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนไปเพราะคนไข้เยอะขึ้นจนต้องมีโรงพยาบาลสนาม เราเองก็ขยายทรัพยากรและเทคโนโลยีไปยังโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเราพยายามช่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ผ่านแนวคิด เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย” สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าว

ทุ่ม 50 ล้านซื้อวัคซีนฉีดพนักงาน

ตั้งแต่มีการระบาดระลอก 3 ทางเอไอเอสได้ให้พนักงาน Work From Home 100% และในส่วนของพนักงานที่ต้องลงพื้นที่ เอไอเอสก็มีมาตรการป้องกัน มีการซื้อประกันภัยและค่ารถพิเศษสำหรับบุลลากรที่ต้องออกไปทำงานภาคสนาม และหากภาครัฐเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีน เอไอเอสได้วางงบไว้ 50 ล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีน COVID-19 ให้กับพนักงานกว่า 1.2 หมื่นคนอีกด้วย

รัฐ-เอกชน-ประชาชน 3 ประสานสร้างภูมิคุ้มกัน

เอไอเอสมองว่าการระบาดระลอก 3 มีความรุนแรงกว่ารอบก่อนหน้า และเอไอเอสคนเดียวไม่สามารถก้าวผ่านได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูประเทศ ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังให้เกิดเอกภาพเพื่อเตรียมพร้อม ต่อสู้ และปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต

“อยากฝากภาครัฐว่าให้เตรียมด้านวัคซีนให้พร้อมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงออกมาตรการที่ยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนเอกชนที่หลายองค์กรเข้ามาช่วยเหลือก็ถือเป็นสัญญาณดี ดังนั้นอยากให้ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนแทนที่จะแข่งขันกัน สุดท้าย ประชาชนต้องปรับตัว”

ปัจจัยที่เราห่วงมาก ๆ คือ หากการระบาดรุนแรงจนควบคุมไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างมาก ดังนั้น หากทั้ง 3 ส่วนร่วมมือกันจนควบคุมการระบาดของ COVID-19 ให้จบลงได้ภายในไตรมาส 2 เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดคงจะไม่ได้มากมาย และหากผ่านพ้นวิกฤตไปได้ประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปได้