การใช้งานโทรศัพท์มือถือทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 90% ยิ่งปัจจุบันนี้สมาร์ทโฟนเป็นเหมือนกับอวัยวะที่ 33 ของเราไปแล้ว เชื่อว่าน้อยคนที่จะปฏิเสธว่าโทรศัพท์มือถือไม่สำคัญ เพราะตื่นมาอย่างแรกที่ทำก็คือ ‘จับมือถือ’ แล้ว และในแต่ละวันมือถือก็อยู่ติดตัวแทบตลอดเวลา แต่ปัจจุบันผู้ใช้ 2 ใน 3 มองว่าสมาร์ทโฟนมีราคาแพงเกินไป ต้องการมือถือที่ใช้ได้นานในราคาเอื้อมถึงมากกว่า
โนเกีย (Nokia) แบรนด์มือถือสัญชาติฟินแลนด์ได้เปิดเผยว่า 69% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกมองว่าสมาร์ทโฟนมีราคาแพงเกินไป และ 81% ต้องการโทรศัพท์ที่สามารถรองรับการใช้งานได้แม้เวลาจะผ่านไปนานปี เช่นเดียวกับตลาดในประเทศไทย 58% คิดว่าสมาร์ทโฟนในตลาดราคาสูงเกินไป และ 95% ต้องการสมาร์ทโฟนที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น
ขณะที่ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้คนพึ่งพาโทรศัพท์มากขึ้นโดยมีการจับสัมผัสเครื่องเฉลี่ย 142 ครั้งต่อวัน เฉลี่ยแล้วมีการใช้เวลาในการมองหน้าจอ 18 ชั่วโมง 12 นาทีต่อ โดยชาวไทยใช้เวลาในการดูหน้าจอโทรศัพท์มือถือเฉลี่ย 11.5 ชั่วโมง ต่อวัน ในขณะที่เยอรมนีและโปรตุเกสติดหน้าจอน้อยที่สุดคือ 2 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกมี 5 รูปแบบยอดนิยม ได้แก่
- ใช้งานอินเทอร์เน็ต
- เล่นโซเชียลมีเดีย
- ฟังเพลง
- เล่นเกม
- ส่งข้อความ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2020-2021 ผู้ใช้มือถือคนไทยพบว่า 91% ใช้เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน 88% ใช้ช้อปปิ้งออนไลน์จากเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย 86% ใช้ทำงาน ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถิติการใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 90% ขณะที่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 95% โดย 83% ของผู้ใช้งานทั่วโลก และ 98% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นศูนย์กลางในทุกส่วนของชีวิต
สำหรับระยะเวลาการเปลี่ยนมือถือของผู้ใช้ในอังกฤษโดยเฉลี่ยแล้วพบว่าใช้งานไม่ถึง 3 ปีในการเปลี่ยนโทรศัพท์ มีเพียง 33% เท่านั้นที่ใช้งานนานกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม 73% ยอมรับว่าต้องการเก็บโทรศัพท์ไว้ใช้งานให้นานขึ้น และ 78% จะใช้งานโทรศัพท์นั้นต่อเนื่องหากอุปกรณ์ยังคงประสิทธิภาพการทำงาน
แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้ 50% กังวลว่าการเปลี่ยนมือถือบ่อยจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก โดย 38% ห่วงเกี่ยวกับการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป ขณะที่เทรนด์สิ่งเเวดล้อมในไทยก็ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดย 80% ต้องการใช้งานโทรศัพท์ให้นานขึ้น 81% ตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสิ่งเเวดล้อม และ 70% ตระหนักถึงปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พวกเขาสร้างขึ้น