3 YouTube ครีเอเตอร์พร้อมใจเสิร์ฟคอนเทนต์ ช่วย FC สร้างอาชีพฝ่าวิกฤติ

กลายเป็นวิบากกรรมของผู้คนทั่วไปเมื่อโควิด-19 มาเยี่ยมเยือนโลกผู้คนนับหมื่นแสนล้านตกงาน รวมทั้งมีรายได้ไม่เท่าเดิม นับเป็นวิกฤติเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นจริงผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบผู้คนทุกหย่อมหญ้า …แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาสให้เห็นเสมอเมื่อ 3 YouTube ครีเอเตอร์อย่าง เชฟขวัญ-นุกร ชัยแสง เจ้าของช่อง “เชฟขวัญ EngiChef”, คิว เจ้าของช่อง “กินได้อร่อยด้วย” และป๊อก-หินไฟหมายยอดกลาง เจ้าของช่อง “สามอาชีพ เพื่อมนุษยชาติ” ที่ได้เลือก YouTube เป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอคอนเทนต์เพื่อส่งต่อความรู้ที่ดีๆ ให้คนดู พร้อมทั้งยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพใหม่

จากจุดเริ่มต้นที่มาจากความรักและชอบของทั้ง 3 YouTube ครีเอเตอร์จึงเลือกสร้างสรรค์จุดเด่นให้คอนเทนต์ของตัวเองในแบบที่รักและถนัดทำให้จำนวนคนติดตามเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และยังได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมจำนวนมากว่าสามารถนำความรู้ที่ได้ชมไปใช้สร้างโอกาส สร้างอาชีพได้จริง

หินไฟ เจ้าของช่อง YouTube “สามอาชีพ เพื่อมนุษยชาติ” เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของเขาคือการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะที่ถูกต้อง เพื่อสิ่งนำที่ดีคืนให้กับสิ่งแวดล้อม และการสร้างอาหารที่ปลอดภัย เราใช้ตัวเองเป็นสื่อแล้วก็จะไปอิงความรู้จากคนที่มีแนวคิดคล้ายๆกับเรามาช่วยบอกเล่า เพื่อให้คนดูสามารถนำไปทำเองได้

ขณะที่ช่อง “เชฟขวัญ EngiChef” ของเชฟขวัญ จะสอนทำอาหารเพื่อประกอบอาชีพ มีจุดเด่นอยู่ที่มีการช่วยคำนวณต้นทุน “ต้องบอกว่าคนดูกว่า 80% ที่ขายอาหารในปัจจุบันคำนวณต้นทุนไม่เป็น เช่นข้างร้านเราขาย 40 บาทเรามาขายใหม่แล้วก็ขาย 40 บาทตามเขา แต่ว่าต้นทุนเราไม่เท่ากัน แหล่งวัตถุดิบซื้อก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้กำไรน้อยหรือโอกาสขาดทุนก็ค่อนข้างสูง และเนื่องจากผมทำธุรกิจร้านอาหารอยู่ด้วยแล้ว ก็เลยรู้ว่าวิธีการคำนวณต้นทุนที่ถูกต้อง ว่าควรคำนวณยังไง แต่อาจไม่ละเอียดเหมือนกับร้านอาหารทั่วไป เอาให้เห็นภาพคร่าวๆ อย่างน้อยที่สุดคนที่ดูคลิปแล้ว แล้วนำไปทำขายถ้าต้นทุนของวัตถุดิบแต่ละตัว ใกล้เคียงกับในคลิป โอกาสที่จะเจ็บตัวหรือขาดทุนก็น้อยลง ก็เลยออกเป็น Content ในลักษณะของการสอนสร้างอาชีพ”

ด้าน คิว เจ้าของช่อง “กินได้อร่อยด้วย” บอกว่าช่องของเขาสอนทำอาหารง่ายๆ ซึ่งเป็นสูตรทั่วไป จะมีการสอนเทคนิควิธีการทำแล้วก็เคล็ดลับ ในการทำอาหารที่จะช่วยให้ ใครที่เข้ามาดูไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยทำอาหารมาก่อน หรือที่ยังไม่ไปทำอาหารมาก็สามารถเปิดดู และทำตามได้ง่ายๆ “สูตรที่ผมทำลงช่องก็จะเป็นสูตรที่ผมทำกินเองแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ เป็นเมนูที่ทำขายได้ เมนูหลักๆที่เราทำลงช่องก็จะเป็นเมนูที่คนไทยรู้จักกันดี สำหรับการทำขายผมมองว่าเราสามารถทำเหมือนที่เราทำกินเองในบ้านได้ อย่างเราเป็นคนไปซื้อเราก็อยากได้อาหารที่ดีๆอยู่แล้ว อร่อยกว่าเราไปทานที่อื่น และได้ปริมาณที่มากกว่า”

แม้จะเริ่มต้นกับสิ่งที่ตัวเองรักและสนุกที่ได้ทำแต่ปัญหาอุปสรรคก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในเรื่องเทคนิคใหม่ๆ ที่โชคดีที่ได้รับคำแนะนำจากทีม YouTube เข้ามาช่วยแก้ปัญหา

หินไฟ บอกว่า YouTube มีส่วนช่วยให้ผมได้รู้แนวทางในการกระจายคลิป เพราะแต่ก่อนเราก็ทำคนเดียว “พอมียอดคนดูแสนคนทางทีมงาน YouTube เขาก็แนะนำให้ผมสมัคร ทำให้ผมเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำลิงก์ การส่งอีเมลต่างๆ ผมก็ลองทำ เวลามีคนสนใจก็สามารถลิงก์ต่างๆที่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันได้ ที่แต่ก่อนผมไม่เคยสนใจทำให้ผมไม่มีความรู้ด้านนี้ ซึ่งทีมงาน YouTube ก็เข้ามาช่วยสอนตรงจุดนี้ให้ ทำให้มีคนมาติดตามเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับ คิว บอกว่า YouTube ได้เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์การวางแผน โดยก่อนหน้านี้ได้ไปร่วมเข้าเวิร์คช็อปกิจกรรมของ YouTube ซึ่งที่นั่นจะสอนการตัดต่อวีดีโอ การทำเสียง ทำให้ได้ความรู้ตรงนั้นมาพัฒนาช่องให้มีคุณภาพมากขึ้น“หลักๆคือ YouTubeจะมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เราหลังบ้านมาช่วยตลอด เวลามีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำก็สามารถคุยกับเขาได้เลย”

ส่วน เชฟขวัญ บอกว่า ปัญหาที่เจอในช่องของเขา มักจะเป็นเรื่องของคอมเมนต์ที่ติดลบ คือบางครั้งที่เราแชร์ข้อมูล แชร์ความรู้ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นฝั่งทาง negative มาคอมเม้นท์ เราว่ามันเป็นปัญหาปกติ ที่ทุกช่องเจอกันอยู่แล้ว นอกนั้นก็คือไม่มีอะไร เพราะส่วนมากจะเป็นคอมเม้นท์ขอคำแนะนำนั่นเอง

บนโลกออนไลน์ สิ่งหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นก็คือ การคอมเมนต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สามารถให้ได้ทั้งกำลังใจแก่คนทำงาน แต่บางครั้งก็อาจกระทบกับความรู้สึกและนำไปสู่ดราม่าได้เช่นกัน

เชฟขวัญ เล่าให้ฟังว่าด้านคอมเมนต์มีมาเรื่อยๆ นะครับ ส่วนใหญ่จะเป็น คอมเมนต์ขอบคุณว่าจากเดิมที่ทำอาหารไม่เป็น ฝึกทำอาหารมาตั้งนานแล้วแต่ไม่ได้เรื่องสักทีแต่พอมาดูในคลิปของเชฟขวัญก็สามารถทำได้เพราะเชฟค่อยๆสอนอย่างละเอียด “แต่ที่ประทับใจจริงๆก็คือเดือนที่แล้ว มีคน inbox เข้ามาว่าเขาเป็นคนพิการเดินไม่ได้มา 5 ปีแล้ว แล้วเขาคิดจะฆ่าตัวตายเนื่องจากไม่สามารถหารายได้มาช่วยครอบครัวได้เลย เขาสไลด์หน้าจอโทรศัพท์แล้วมาเจอช่อง YouTube ของเรา เจอเมนูแซนวิชโบราณ เขาก็ไปลองทำทีแรกก็แค่ทำแจกจ่ายให้คนอื่นชิมแล้วถึงเริ่มลองวางขายปรากฏว่าปัจจุบันเขามีออเดอร์ประมาณ 100 ชุดต่อวัน ทำให้ตอนนี้เขาไม่อยากตายแล้ว เขาขอบคุณเรามากๆ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราแชร์ลงไปอย่างน้อยมันก็สามารถไปต่อชีวิตให้กับคนคนหนึ่งโดยที่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีผลขนาดนี้ มันยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เราว่าคอนเทนต์ที่เราทำมีประโยชน์ มีคนที่เขาดูแล้วเขาทำต่อได้ มันเลยทำให้เรารู้สึกมีความสุขแล้วก็มีความสนุก ที่จะสร้างคอนเทนต์ของเราต่อไป”

คิว ของผมแล้วปกติก็จะมีคอมเมนต์เข้ามาขอบคุณอยู่เรื่อยๆอยู่แล้วครับ เช่นคนที่กำลังจะเริ่มทำอาหารแต่ไม่เคยทำอาหารมาก่อน อย่างช่วงที่มีโควิด ก็จะมีคนที่เริ่มทำอาหารอยากจะเอามาทำเป็นรายได้เสริมอาชีพเสริม รวมทั้งมีเข้ามาขอคำปรึกษาไปบ่อยๆ สอบถามเทคนิคการทำอาหาร จนหลังๆ ก็จะมีคอมเมนต์มาขอบคุณแล้วก็จะมีมาบอกประมาณว่านอกจากจะทำเป็นอาชีพเสริมแล้วสามารถเปิดร้านทำเป็นอาชีพหลักได้เลย ถ่ายรูปหน้าร้านถ่ายรูปตอนคนเต็มร้านส่งมาให้ดู ทำให้เรารู้สึกว่าจากช่องที่ทำให้เราแค่จะมาสอนทำอาหารมันมาไกลมากแล้วกลายเป็นสามารถสร้างอาชีพให้คนได้ เราก็รู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จมากแล้วในส่วนนี้ อยากจะทำให้ช่องYouTube ของเรามันดียิ่งๆขึ้นไปอีก

หินไฟ ที่ผ่านมามีคนดูเข้ามาขอบคุณและบอกเล่าเรื่องราวของเขาที่เมื่อได้ดูคลิปเราแล้วนำไปทำตาม ผลลัพธ์คือมีสิ่งที่ดีกับชีวิตเขาจริงๆ เช่นมีลูกที่ทำงานออฟฟิศแต่แม่ป่วยอยู่ต่างจังหวัด ต้องกลับมาดูแลแม่แล้วก็ต้องลางานออกมา เขาก็มาดูช่องเราแล้วก็เห็นแนวทางในการกลับไปบ้านเกิด โดยทำสวนไปด้วยแล้วก็ได้อยู่กับแม่ด้วย ทุกวันนี้เขาก็รู้สึกมีความสุข ตื่นเช้ามาก็ไปช่วยกันทำงานที่สวนกับแม่ ก็เกิดเป็นกลุ่มที่มีการให้กำลังใจกันว่ามาถูกทางแล้วที่ได้มาดูข้อมูลจากช่อง YouTube ของผม เพราะทำให้เขาได้กลับมาอยู่กับครอบครัว และในขณะเดียวกันก็มีชีวิตที่ดีด้วย

แน่นอนว่าเรื่องราวดีๆ จะถูกพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเป็นไอเดียให้คนดูเก่าและใหม่นำไปต่อยอดพัฒนาตัวเองต่อไป

เชฟขวัญ เรามีการพัฒนาหาความรู้ตลอด เช่น เรื่องของการทำธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งแต่ละธุรกิจข้อมูลก็จะแตกต่างกัน เช่น ร้านชาบู ร้านบุฟเฟ่ต์ เขามีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร เราก็ไปแลกเปลี่ยนความรู้ไปขอความรู้ แล้วเราก็เอาความรู้ตรงนี้มาแชร์ให้กับคนดูของเราครับ

คิว เราก็จะเน้นทำอาหารโดยหาเมนูใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ สูตรอาหารเราจะไม่ตายตัวอยู่แล้ว เราพยายามพลิกแพลงปรับให้เข้ากับยุคสมัย เราอาจจะมีการทำคอนเทนต์ใหม่ๆ ซึ่งเราเริ่มจะมีแพลนต้องรอติดตามในอนาคตครับ

หินไฟ เราก็จะไม่หยุดครับ เพราะในแต่ละพื้นที่ก็มีความต่างกัน มีความหลากหลายทางภูมิภาค ถ้าจะให้เกิดความพัฒนาอย่างทุกวันนี้ก็พูดในเรื่องของ ถ่านที่เราใช้ในการทำเกษตรถ่านหุงต้ม จริงๆผมมองในเชิงของการสร้างเครือข่าย การทำกสิกรรมในอนาคตการทำตลาดการแลกเปลี่ยน เช่นผมเคยจัดการปลูกผักที่หมู่บ้านที่อยู่ไกลแต่ด้วยอานุภาพของสื่อทำให้คนไปดูเยอะมากสามารถทำให้หมู่บ้านเล็กๆรถติดได้ เป็นกิจกรรมที่เราว่าจะจัดให้มีคนไปสัก 500 คนแต่พอไปจริงๆ มีเยอะถึง 2-3 พันคน ทำให้ชาวบ้านเขาเข้าใจในเรื่องของการมีสื่อ ใช้สื่อ ผมจึงมองในเชิงของกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ และกิจกรรมในเชิงของการตลาดและในเชิงผู้บริโภค ในกลุ่มของเราที่จะบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและในเชิงเรื่องสุขภาพ และองค์ความรู้ในเรื่องของการเกษตรเกิดใหม่ที่จะมาแลกเปลี่ยนกันครับ