กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน มีรายได้รวมจำนวน 35,425 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปีก่อน สูงสุดในอุตสาหกรรม ด้วยฐานผู้ใช้บริการที่เติบโตต่อเนื่องทั้งธุรกิจมือถือ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและดิจิทัล รายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์และมือถือเติบโตต่อเนื่อง ชดเชยรายได้ทรูวิชั่นส์ที่ลดลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจและโควิด-19ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นในการบริหารโครงสร้างต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ส่งผลให้ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เป็น 14,053 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 3,288 ล้านบาท ความทุ่มเทของกลุ่มทรูในการมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมผสานความร่วมมือและขยายเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ รวมถึงการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้บริการด้วยเครือข่ายและบริการคุณภาพสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G และบรอดแบนด์ ที่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนที่สำคัญ พร้อมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทำให้สามารถนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด นอกจากนี้ ระบบนิเวศและแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เติบโตสูงต่อเนื่องและจะช่วยเสริมการเติบโตให้กลุ่มทรูได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยศักยภาพการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจด้านดิจิทัลมีเดียและไอโอที อันจะสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนต่อไป
นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของกลุ่มทรูมีพัฒนาการเชิงบวกในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างต้นทุนทั้งกระบวนการที่มีการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายฐานลูกค้าคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้กลุ่มทรูสร้างผลประกอบการที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา EBITDA ของกลุ่มทรูยังคงเติบโตสูงในอัตราแบบเลขสองหลักจากปีก่อน ธุรกิจมือถือ บรอดแบนด์และดิจิทัลยังเติบโต ชดเชยรายได้ที่ลดลงของทรูวิชั่นส์ มีการบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนใบอนุญาตการใช้งานคลื่นความถี่ 5G และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน กระทบต่อผลกำไรของบริษัทในระหว่างไตรมาส”
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “ความต้องการใช้งาน 5G และบรอดแบนด์ ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง พร้อมชีวิตวิถีใหม่ที่ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจเร่งปรับตัวและต้องการใช้บริการและโซลูชันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่กลุ่มทรูได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าแบบ end-to-end ผ่านแพลตฟอร์ม (digitalization) ที่ครอบคลุมครบทุกสินค้าและบริการคุณภาพสูง ประกอบด้วยระบบนิเวศดิจิทัลที่รวบรวมเทคโนโลยีล้ำสมัย โซลูชันอัจฉริยะและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง การขยายพันธมิตรทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค ตลอดจนการมุ่งเน้นช่องทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความมุ่งมั่นเหล่านี้ กลุ่มทรูมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมรับสถานการณ์และสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19ระลอกใหม่นี้ไปได้อย่างแน่นอน”
ทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิประมาณ 581,000 รายในไตรมาส 1 ขยายฐานผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 31.2 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน 21.0 ล้านรายและระบบรายเดือน 10.2 ล้านราย ขณะที่บริการ 5G เติบโตต่อเนื่อง จนมีผู้ใช้งาน 5G บนระบบทรูมูฟ เอช กว่า 7 แสนราย ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2564 รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวน 19,937 ล้านบาท โดยรายได้รวมจากระบบรายเดือนและเติมเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน แม้ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในขณะที่มีแนวโน้มเชิงบวกของจำนวนผู้ใช้งานและดีไวซ์5G ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยที่ได้สำรวจในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จากบริษัทวิจัยการตลาดอิสระ บริษัทไทพ์วันแล็บ และมาร์เก็ตบัซซ พบว่า ทรู 5G เป็นแบรนด์อันดับ 1 ในใจชาวไทยทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ทั้งในด้านความเป็นผู้นำ 5G และการเป็นผู้ผลักดันเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย ซึ่งการรับรู้ในด้านความเป็นผู้นำของแบรนด์ดังกล่าว สะท้อนถึงปัจจัยสำคัญในการพิจารณาตัดสินใจเลือกใช้งานซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตให้กับทรูมูฟ เอช ต่อไปทั้งในส่วนของกลุ่มลูกค้ารายย่อยและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ การได้รับคลื่นความถี่ 26GHz มาเสริมเครือข่าย 5G บนคลื่นความถี่ 2600MHz และ 700MHz ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่าย 5G ของทรูมูฟ เอช โดยคลื่นย่าน mmWave (millimeter wave) นี้มีแบนด์วิธกว้างมาก รองรับความเร็วได้มากกว่า 4G ถึง 20 เท่า ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 2.3 Gbps และยังสามารถทำความเร็วไปได้ถึง 10 Gbps. ในอนาคต ในขณะเดียวกัน ทรูมูฟ เอช ขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในหลากหลายอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้รับเลือกจากโรงพยาบาลศิริราชให้เป็นผู้นำแพลตฟอร์มคลาวด์MEC (Multi-Access Edge Computing) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเครือข่าย 5G มาร่วมพัฒนารูปแบบการใช้งาน 5G (use case) โดย MEC เป็นการวางระบบ Edge Computing ให้อยู่ใกล้กับผู้ใช้งานมากที่สุดเพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่รวดเร็วและมีความหน่วงในการทำงานต่ำ (Low latency) และมีความปลอดภัยสูงมากด้วยการรับส่งข้อมูลที่อยู่ภายในระบบของโรงพยาบาล อีกทั้งยังตอบโจทย์เรื่องการใช้งานกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้งระบบสาธารณสุขทางไกลหรือ Telehealth IoT และการใช้งาน AI
ทรูออนไลน์ คงความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งและรายงานการเติบโตสูงสุดในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้และฐานผู้ใช้บริการ โดยมีรายได้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น 661 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 7,191 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2564 หนุนโดยผลตอบรับที่ดีต่อบริการไฟเบอร์คุณภาพสูงพร้อมการผสานนวัตกรรมดีไวซ์และคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุค New Normal โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทรูออนไลน์มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งกว่า 101,000 ราย ขยายฐานผู้ใช้บริการรวมเป็น 4.3 ล้านราย ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรม สร้างการเติบโตในตลาดใหม่ และการยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ทรูออนไลน์สามารถตอบสนองความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อการทำงานและการเรียนแบบทุกที่ ทุกเวลา ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19และยุคดิจิทัลนี้
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2,588 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปรับชมคอนเทนต์ผ่านสื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์ม OTT เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้การสมัครรับชมคอนเทนต์ของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป มีรายได้ เติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องในอัตราแบบเลขสองหลัก ขณะที่ทรูวิชั่นส์ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมคอนเทนต์ให้กับกลุ่มทรูนั้น ได้ปรับตัวและขยายฐานผู้ใช้บริการสู่ช่องทางออนไลน์และดิจิทัลผ่านพันธมิตรอย่างทรูไอดี โดยล่าสุดได้เปิดตัว TrueVisions NOW บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ที่ลูกค้าสามารถรับชมคอนเทนต์คุณภาพได้ทุกเวลาผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งแอปพลิเคชันทรูไอดี เว็บไซต์ กล่อง OTT และทรูไอดีทีวี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดและคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์ มีฐานลูกค้ารวม 3.9 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของกลุ่มทรู ด้วยบริการและแพลตฟอร์มคุณภาพอย่าง ทรูไอดี ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดจำนวนการซื้อคอนเทนต์เพื่อรับชมภายในแอปพลิเคชันที่เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 435,000 ครั้ง ในขณะที่ยอดรับชมคอนเทนต์วิดิโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยมีจำนวน 240 ล้านครั้งต่อเดือนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 นอกจากนี้ ทรูไอดียังมี ทรูไอดี คอมมูนิตี้ สังคมในการพูดคุยแบบบนโลกออนไลน์สำหรับลูกค้าทรูไอดีที่ชื่นชอบและสนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น อาหาร การท่องเที่ยว ธรรมะ หรือสังคมแฟนคลับศิลปินต่างๆ สำหรับแพลตฟอร์มบนจอโทรทัศน์ กล่องทรูไอดี ทีวี ได้ไต่ระดับไปอีกขั้นด้วยยอดสูงถึง 2.36 ล้านกล่อง ส่งผลให้รายได้จากการสมัครรับชมคอนเทนต์ดิจิทัลและการโฆษณาเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องตามศักยภาพการเติบโตที่สูงของธุรกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ทรูไอดี ทีวียังได้รุกเข้าตลาดเกมมิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เสริมบริการใหม่จากแอปพลิเคชัน Antstreamยกระดับและพลิกโฉมการใช้งานแพลตฟอร์ม OTT สอดคล้องการเติบโตของตลาดเกมมิ่งและเครื่องเล่นเกม ให้ผู้ใช้กล่องทรูไอดี ทีวี สามารถเข้าถึงเกมยุค 80-90 และแฟรนไชส์เกมชื่อดังกว่า 1,000 เกมได้บนกล่องทรูไอดี ทีวี สำหรับด้านลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น ได้ขยายโซลูชั่นที่ให้บริการและเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ใช้บริการได้แล้วกว่า 406,000 อุปกรณ์ ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2564 ไตรมาสนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำเสนอแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน True HEALTHที่จะเชื่อมต่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น โดยมีบูธให้ทดลองใช้แล้วที่โลตัส สาขารามอินทรา และทรูช็อป สาขาเซ็นทรัลเวิลด์
หมายเหตุ: ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย