ปัญหาขาดแคลนชิปทำ ‘ทีวี’ ราคาพุ่ง 30% ส่วน ‘Ps5’ ขาดตลาดยาวถึง 2022

Photo : Shutterstock
โทรทัศน์, แล็ปท็อป และแท็บเล็ตเป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงที่ COVID-19 ระบาด เนื่องจากผู้คนทำงานและเรียนผ่าน Zoom, คุยกับเพื่อน ๆ ผ่าน Skype และใช้ Netflix เพื่อบรรเทาอาการเบื่อ แต่การขาดแคลนชิปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นนั้นทำให้ ราคาของดีไวซ์พุ่งสูงขึ้น โดยเริ่มจาก ‘ทีวี’

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาของทีวีระดับตัว Top พุ่งขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีที่ผ่านมาตามรายงานของบริษัทวิจัยตลาด NPD การที่ราคาพุ่งอย่างก้าวกระโดดเป็นผลโดยตรงจากวิกฤตชิปขาดแคลนในปัจจุบันและเป็นการตอกย้ำว่าปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าการเพิ่มกำลังการผลิต

ปัญหาดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณว่าดีไวซ์อื่น ๆ อาจมีราคาสูงขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป, แท็บเล็ต และชุดหูฟัง VR โดย ‘Asus’ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชาวไต้หวันกล่าวว่าการขาดแคลนส่วนประกอบอาจหมายถึง การปรับขึ้นราคาที่สูงขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

SEOUL, SOUTH KOREA – 2020/11/13: People wearing masks exit a PlayStation Store in Seoul. (Photo by Simon Shin/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

Michael Hurlston ซีอีโอของ Synaptics ซึ่งเป็นบริษัทขายวงจรสำหรับควบคุมหน้าจอสัมผัสให้กับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มั่นใจว่า “ราคาจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน” สำหรับส่วนประกอบเหล่านี้ เพราะบริษัทเห็นการขึ้นราคาของส่วนประกอบอื่น ๆ จากบริษัทอื่น

ด้าน Sony ได้เปิดเผยว่า PlayStation 5 จะยังคงขาดตลาดไปจนถึงปี 2022 เนื่องจากปัญหาดังกล่าว โดยบริษัทระบุว่าส่วนประกอบบางอย่างได้เห็นยอดสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งปกติราคา 50 เซ็นต์ แต่ตอนนี้ขายได้มากถึง 70 เหรียญ ซึ่งผู้ผลิตวงจรจอแสดงผลจะรู้สึกถึงผลกระทบเป็นอันดับแรก

“คำที่ฉันได้ยินเมื่อไม่นานมานี้คือ สินค้าคงเหลือหมดลงแล้ว ดังนั้นราคาใหม่เที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อร้านค้าปลีกและการบริโภคของผู้บริโภค” Peggy Carrieres รองประธานของ AVNet ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กล่าว

Photo : shutterstock

ก่อนหน้านี้ ผลกระทบได้เกิดกับผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องหยุดการผลิตเพราะขาดแคลนชิป ขณะที่มีอีกหลายปัญหาที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายแล้งในไต้หวัน ที่กระทบต่อผู้ผลิตชิปในประเทศเพราะน้ำถือเป็นส่วนสำคัญในการผลิต นอกจากนี้มีเหตุไฟไหม้ในเดือนมีนาคมที่ต้องปิดโรงงานในญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์หลายชนิดรวมถึงวงจรรวมจอแสดงผล

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปอาจกินเวลานานกว่าหนึ่งปี ซึ่งปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรม รวมถึงผลกระทบต่อความก้าวหน้าในเทคโนโลยีสำคัญ ๆ เช่น AI, 5G และเทคโนโลยีทางทหาร

ที่ผ่านมา Intel ผู้ผลิตชิปชั้นนำของสหรัฐฯ ที่พ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งอย่าง TSMC ในไต้หวัน และ Samsung ในเกาหลีใต้ แต่ปัจจุบันบริษัทวางแผนที่จะลงทุนอย่างหนักเพื่อความพยายามที่จะกลับมาเป็นผู้นำ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตชิปของอเมริกา อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะไม่ช่วยอะไรในสถานการณ์ปัจจุบัน

Source