บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เดินหน้าเตรียมความพร้อมในการรับโอนสิทธิ์การเดินรถแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อัดฉีดงบลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาทเพิ่มเติมจากข้อตกลงตามสัญญา เตรียมพร้อมให้บริการก่อนรับมอบสิทธิ์การเดินรถ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จาก ร.ฟ.ท.
ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบระบบการเดินรถ ซ่อมบำรุง และปรับปรุงตกแต่งสถานี ล่วงหน้าก่อนเริ่มการดำเนินงานเต็มรูปแบบหลังรับมอบในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นี้ หวังยกระดับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมทุกเส้นทางการเดินทางระหว่างชานเมืองเข้าสู่ในตัวเมือง รองรับการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ที่จะเปิดดำเนินการในปี 2569 หวังผู้โดยสารได้รับประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้น สะดวก และปลอดภัย
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ ประธานกรรมการ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวว่า
“บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินการรับช่วงต่อจาก ร.ฟ.ท. ได้แบบไร้รอยต่อตามสัญญาซึ่งเป็นไปตามแผนงาน และกำหนดเวลาที่วางไว้ โดยสั่งการให้ผู้เชี่ยวชาญการเดินรถ และให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศและในประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมสำรวจความคิดเห็นจากผู้โดยสารเพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนา และปรับปรุงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้พร้อมบริการได้อย่างต่อเนื่องทันทีที่เข้ามารับช่วง โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย และความสะดวกสบาย”
ด้าน สฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า
“แม้ว่าตามสัญญาบริษัทฯ จะได้รับมอบสิทธิ์ในการบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป แต่หลังจากที่บริษัทฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญระดับโลกลงพื้นที่ ประกอบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้พบว่ามีความจำเป็นที่บริษัทฯ จะต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อปรับปรุงระบบ และสถานี ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถให้บริการประชาชนได้ทันที
เมื่อคณะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมีความเห็นให้ดำเนินการปรับปรุงระบบ และสถานีให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน บริษัทฯ จึงมีมติให้ อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมกว่า 1,700 ล้านบาท สำหรับดำเนินงานล่วงหน้าก่อนรับโอนสิทธิ์ โดยเริ่มวางแผนงานตั้งแต่ต้นปี 2563 และทยอยดำเนินการในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ได้แก่
1. การเตรียมการด้านบุคลากร และ การถ่ายทอดเทคโนโลยี
2. การเตรียมความพร้อมด้านระบบ และเทคนิค
3. การเตรียมความพร้อมด้านการปรับปรุงสถานี และการให้บริการ จัดให้มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง ด้วยการออกแบบอารยสถาปัตย์ (universal design) ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อทุกคน
4. การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย เพราะต้องการให้ความเชื่อมั่นกับผู้โดยสารว่า ทันทีที่บริษัทฯ เข้ามาดำเนินงาน ผู้โดยสารจะได้รับประสบการณ์การเดินทางที่ดียิ่งขึ้นตั้งแต่วันแรก