นักวิทย์เยอรมนีรู้ทางแก้ปัญหา “ลิ่มเลือดอุดตัน” หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ และ J&J

Astrazeneca Vaccine
Photo : Shutterstock
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เยอรมนี อ้างว่าพบต้นตอของภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นน้อยมาก อันเกี่ยวข้องกับวัคซีน COVID-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ระบุสามารถปรับแก้วัคซีนเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวได้

งานวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์โรล์ฟ มาร์สชาเลค จากมหาวิทยาลัยเกอเธ่ ในแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 26 พ.ค. ชี้ว่าปัญหาอยู่ที่ เทคโนโลยีใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา (Adenovirus Vector) ที่วัคซีนทั้งสองตัวเลือกใช้ โดยวัคซีนไวรัสเวคเตอร์จะใช้ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ มาดัดแปลงเป็นพาหะนำคำสั่งที่สำคัญเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ในร่างกายผู้ได้รับวัคซีน เพื่อผลิตโปรตีนหนาม (spike protein) และกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ศาสตราจารย์มาร์สชาเลค และคณะทำงานของพวกเขาเชื่อว่าบางส่วนของโปรตีนหนามหลุดออกจากกัน และส่งผลให้โปรตีนเหล่านั้นเกิดการกลายพันธุ์ จากนั้นโปรตีนดังกล่าวก็จะเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งในเอกสารให้คำจำกัดความว่า “Vaccine-Induced Covid-19 Mimicry” syndrome

และผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่าพวกผู้ผลิตวัคซีนสามารถแก้ไขด้วยการนำวัคซีนไปปรับแต่งสารพันธุกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้สไปค์โปรตีนแตกตัวโดยไม่ตั้งใจเมื่อเข้าสู่เซลล์ร่างกาย และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

“ด้วยข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือ เราสามารถบอกบริษัทต่างๆ ถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงลำดับพันธุกรรม รหัสของสไปค์โปรตีน ในแนวทางที่ป้องกันเกิดปฏิกิริยาที่ไม่ตั้งใจ” มาร์สชาเลคกล่าว

vaccine Johnson
Photo : Shutterstock

พวกนักวิจัยบ่งชี้ต่อว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ทั้งหมด รวมถึงที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา “น่าจะเป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย” เพราะใช้เทคโนโลยีต่างออกไป โดย mRNA ไม่ได้ใช้ไวรัสอ่อนแอ หรือไวรัสเชื้อตายใส่เข้าไปในเซลล์ แต่วัคซีน mRNA เป็นการสอนพวกมันให้เรียนรู้ถึงการสร้างโปรตีนโดยที่ไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์

เอกสารนี้ถูกเผยแพร่ก่อนตีพิมพ์บนเว็บไซต์ Research Square แต่การศึกษาดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีความเกี่ยวข้องกับอาการลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นน้อยมากๆ แต่รุนแรง และในบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

ผู้เสียชีวิตรายแรกในอียูที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เกิดขึ้นในเบลเยีม เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นผู้หญิงวัย 37 ปี ส่งผลให้ประเทศแห่งระงับใช้วัคซีนกับบุคคลอายุต่ำกว่า 41 ปี

ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า พบผู้มีอาการลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดแล้วมากกว่า 140 รายในเขตเศรษฐกิจยุโรป ขณะที่ในสหราชอาณาจักรพบ 300 ราย ในนั้นเสียชีวิต 56 คน

Astrazeneca vaccine
Photo : Shutterstock

หลายประเทศทั่วโลกระงับใช้วีคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนประเทศอื่นๆ จำกัดการใช้เฉพาะกับผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ก็พบประเด็นปัญหาในวัคซีนเทคโนโลยี mRNA เช่นกัน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) แถลงในช่วงกลางเดือนว่า กำลังสืบสวนรายงานเกี่ยวกับประเด็นการอักเสบของหัวใจในคนหนุ่มสาว ส่วนใหญ่เกิดกับเพศชายที่ได้รับวัคซีนของโมเดอร์นา และไฟเซอร์

นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือ “โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก” 3 เคส ในบรรดาผู้รับวัคซีนของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทคในฝรั่งเศส

คนที่มีอาการฮีโมฟีเลีย จะมีโปรตีนตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดหายไป หรือมีไม่เพียงพอ เฉพาะฉะนั้นผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจึงมีเลือดออกเป็นระยะเวลานานกว่าคนปกติ หลังจากถูกของมีคมบาดหรือมีเลือดออกภายใน การมีเลือดออกภายในมักเกิดขึ้นในข้อต่อและกล้ามเนื้อ แต่อาจเกิดขึ้นได้ที่สมองหรืออวัยวะอื่นๆ

Source