GDP โตเบาๆ แค่ 4%
ปี2554เศรษฐกิจยังโตแต่ซบเซากว่าปีเสือ โดยจีดีพีจะโตประมาณ4% เป็นค่าเฉลี่ยจากหลายสำนักเศรษฐกิจทั้งรัฐ เอกชน โดยมาจากปัจจัยการบริโภคในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยว เพราะหวังพึ่งส่งออกไม่ได้เหมือนเดิม จนคาดว่าส่งออกจะโตไม่เกิน 10% เพราะค่าเงินบาทแข็ง และสาเหตุสำคัญคือจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว จะโตแค่ 2-3% จากปีเสือโต 4-5% โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ดูเหมือนจะดีแต่ไส้ในยังชำรุด และการแข่งขันส่งออกจากเพื่อนบ้านสูง โดยเฉพาะจีนที่เป็นโรงงานของโลก
บางสำนักให้จีดีพีไทยไว้เพียง 3.7% เท่านั้น แต่หลายคนบอกว่ายังดีที่เติบโต เพราะส่วนหนึ่งฐานในปี 2553 เติบโตสูง ที่คาดว่าจบปีจะโตที่ 7.3% แต่สิ่งที่ยังต้องลุ้นคือ 4% นี้ยังไม่นับปัจจัยภายในประเทศอย่างการเมือง และภาวะภัยธรรมชาติทั้งแล้งและน้ำท่วมที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย
บาทแข็งโป๊ก 26 บาท
ค่าเงินเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้เต็มที่ เพราะถ้าไปคุมประเทศอาจเจ๊งได้เหมือนอย่างที่เคยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ต้องปล่อยให้ไหลไปตามตลาดการเงินโลก จะทำได้ก็เพียงแค่การแตะให้ชะลอ และเตือนให้เอกชนปรับตัว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB วิเคราะห์ค่าเงินบาทไว้ 3 กรณีคือ
1. 26.6 บาท เป็นกรณีแข็งค่ามากที่สุด มีความเสี่ยงเป็นไปได้ 20% ภายใต้สมมุติฐานคือ เงินทุนต่างประเทศไหลบ่าเข้ามาโดยเฉพาะเงินดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง หรือ (Quantitative Easing QE2) หรือการปั๊มเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องในประเทศ ด้วยการอัดฉีดเงินซื้อพันธบัตร6แสนล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันค่าเงินหยวนของจีนที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น หากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายควบคุม ก็คงได้เห็นค่าเงินบาทไปแตะที่ 26.6 บาท
2. 28.5 บาท เป็นไปได้มากที่สุดถึง 70% ถ้าแบงก์ชาติออกมาตรการควบคุมการไหลของเงินทุนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม
3. 30.2 บาท แทบไม่ต้องคิด เพราะเป็นไปได้แค่ 10% ถ้าแบงก์ชาติออกมาตรการควบคุมการไหลของเงินทุนต่างประเทศอย่างเข้มข้น
น้ำมันสวิง แตะ 100 เหรียญสหรัฐ
แม้ภาวะเศรษฐกิจฟากยุโรปและอเมริกาพยายามจะเติบโต แต่ยังไม่เสถียรจนไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้ แต่คงไม่ถดถอยแล้ว เพราะมีการอัดฉีดและพยายามรักษาให้เติบโต ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะในเอเชียเฟื่องสุดๆ ทำให้ปีกระต่ายโลกจะบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปีเสือ ซึ่งแน่นอนทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น หากมีเหตุวิกฤตอย่างสงครามและภัยธรรมชาติ ก็จะทำให้ราคาผันผวน บวกกับการเก็งกำไรราคาน้ำมัน กลุ่ม ปตท.จึงคาดว่าในปี 2544 ราคาน้ำมันดิบดูไบอาจแตะ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่มีราคาเฉลี่ยที่ 83 เหรียญสหรัฐ จากปี 2553 อยู่ที่ 77 เหรียญสหรัฐ และปี 2552 อยู่ที่ 61.60 เหรียญสหรัฐ
เมื่อราคาน้ำมันดิบแพงขึ้น ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศประเภทต่างๆ ก็จะแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ โดย ปตท.คาดว่าดีเซลจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 28-29 บาทต่อลิตร
ทองคำพุ่งอีกบาทละ 2 พัน แต่ยังเสี่ยง
จากการคาดการณ์ของสมาคมค้าทองคำ เห็นภาพราคาทองคำใน 2554 ยิ่งสุกสว่างสดใส จากปีเสือเห็นราคาทองคำแตะบาทละ 20,000 บาทมาแล้ว ในปีหน้าจะเพิ่มไปถึง 22,000 บาท ระบุเวลากันได้ว่าภายในไตรมาส 2 ของปี 2554 เพราะนักลงทุนนิยมลงทุนในทองคำ ปัจจัยหนุนยังมาจาก QE 2 ที่ส่งผลต่อค่าเงิน จากการปั๊มเงินเข้ามาในระบบมากขึ้นของสหรัฐฯ จนเกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในอนาคต นักลงทุนจึงจะลงทุนในทองคำมากขึ้นเพื่อปกป้องการเสื่อมค่าของเงิน
สำหรับคนที่ซื้อเก็บระยะยาวไม่ถือว่าเสี่ยง เพราะทองคำคือแหล่งลงทุนปลอดภัยที่สุด เพราะถึงอย่างไรทองคำมีแต่ขึ้นกับขึ้น คาดกันว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำปีนี้จะได้ไม่ต่ำกว่า 15% แต่สำหรับนักลงทุนระยะสั้นที่มีแต่เงินร้อน จะต้องเสี่ยงกับความผันผวนอย่างปี 2553 ที่แกว่งตัว 20% แล้ว 3 รอบ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดระมัดระวัง เพราะเริ่มมีเสียงเรื่องภาวะฟองสบู่ของทองคำให้ได้ยินตั้งแต่ปลายปี 2553 แล้ว เมื่อย้อนกลับไปดูในปี 2531 ราคาทองคำเคยเพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 400 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และ 4-5 ปีต่อมาลดลงมาเหลือ 270-294 เหรียญสหรัฐ กว่าจะขึ้นถึง 410 เหรียญสหรัฐอีกครั้งก็ต้องรอถึงปี 2547 จากนั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ยังไม่ตกจนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,400 เหรียญสหรัฐ ที่ราคาทองแตะ 20,000 บาท และปี 2554 จะอยู่ที่ 1,500-1,600 เหรียญสหรัฐ
หุ้นสูงสุดไปถึง 1,400 จุด
ปี 2553 ผันผวนเป็นช่วงๆ ตลอดปี แต่ก็สามารถถีบดัชนีขึ้นมาได้เกือบถึง1,100 จุด จากช่วงต้นปีต่ำสุดอยู่ที่ 688 จุด หากไม่มีปัจจัยอะไรภายในประเทศรุนแรง หรือปัจจัยนอกประเทศไม่มีอะไรเลวร้ายอย่างสงคราม บรรดาเซียนหุ้นทั้งหลายคาดการณ์กันว่าได้เห็นแน่ที่ 1,200-1,400 จุด
ตลาดหุ้นยังคงมีความเสี่ยงเช่นกัน ที่กูรูหุ้นต่างยังจำได้ คือประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ที่ตลาดหุ้นไทยเคยไปที่ 1,043 จุดมาแล้ว แต่เมื่อมีสงครามอิรักบุกคูเวต หุ้นรดลงมาต่ำสุดที่ 536 จุดมาแล้ว