มองอนาคต ‘โซเชียลเสียง’ เมื่อแพลตฟอร์มเจ้าใหญ่ต่างตบเท้าลุยตลาดชน Clubhouse

ในช่วงปีที่ผ่านมาที่เกิดการระบาดของ COVID-19 จู่ ๆ ก็มีแพลตฟอร์มโซเชียลน้องใหม่ที่มาแปลกและมาแรงหรือก็คือ ‘Clubhouse’ เพราะเป็นโซเชียลมีเดียที่เน้นใช้ ‘เสียง’ ในการสนทนา (ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นเป็น Text) แม้ในไทยกระแสจะซาลงไป แต่หากพูดในระดับโลกแล้วจะเห็นว่าแพลตฟอร์มรายใหญ่อย่าง Facebook, Twitter ต่างก็ลงมาเล่นในตลาดนี้ หรืออนาคตโซเชียลจะเน้นไปที่การฟังมากกว่าการอ่าน

ยอดฟังพอดคาสต์ลด แต่มีเดียประเภทเสียงโต

ตั้งแต่เกิดการระบาด การฟังพอดคาสต์ก็ลดลง เนื่องจากการผู้คนไม่ได้ออกจากบ้าน ดังนั้น จึงไม่มีการฟังพอดคาสต์ระหว่างเดินทาง โดยยอดดาวน์โหลดพอดคาสต์ช่วงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 25 มีนาคม 2020 ลดลง 10% แต่กลับกันยอดการฟังมีเดียประเภทเสียงกลับเติบโตขึ้น ที่ผ่านมา eMarketer ได้แก้ไขประมาณการในปี 2020 จากที่เวลาการฟังมีเดียเสียงลดลง 1% เป็นการเติบโต 8.3% เฉลี่ยที่ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งต่อวัน ขณะที่ Clubhouse อ้างว่าผู้ใช้ใช้เวลากับแอปโดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

ในขณะที่ผู้คนอาจเดินทางน้อยลงและอาจใช้เวลาช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาดของโรคในการดูข่าว แต่ความเจ๋งของคอนเทนต์รูปแบบเสียงก็ยังคงอยู่ เพราะผู้คนสามารถฟังขณะทำอาหาร, ทำความสะอาดและออกกำลังกาย ขณะที่คอนเทนต์ประเภทวิดีโอยังต้องใช้ตาดู

Discord, Clubhouse แพลตฟอร์มคนรุ่นใหม่

โดยในปีที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียที่เน้นใช้เสียงสนทนาอย่าง Clubhouse และ Discord กลายเป็นแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่หลายคนคาดว่า จุดที่ทำให้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มประสบความสำเร็จก็คือ การ พูดคุยสด ๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของประสบการณ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งจุดนี้เองทำให้ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียพยายามเข้ามาในตลาด

สำหรับเกมเมอร์จะคุ้นเคยกับ Discord แน่นอน โดย Discord ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านเสียง ซึ่งเริ่มจากเป็นแพลตฟอร์มแชทสำหรับนักเล่นเกมตั้งแต่ปี 2558 ได้รับความนิยมอย่างมากและมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว โดยผู้ใช้สามารถสนทนาผ่านข้อความและแชทด้วยเสียงพร้อมกับวิดีโอ ปัจจุบันแพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานกว่า 150 ล้านคน/เดือน จากที่ปี 2562 มี 56 ล้านคน/เดือน

หน้าแชทของ Discord

แพลตฟอร์มจะให้ผู้ใช้สามารถตั้ง ห้อง ที่ทำหน้าที่เป็นชุมชนออนไลน์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ แม้ว่าฐานผู้ใช้ในช่วงแรกของบริษัทจะเน้นไปที่การพูดคุยเกี่ยวกับเกมเป็นหลัก แต่ความน่าสนใจของบริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนพบชุมชนบนแพลตฟอร์มเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ เกม ข่าว กีฬา หรือฟุตบอลและเรื่องจิปาถะอื่น ๆ 

ที่ผ่านมา Discord ระดมทุนได้เกือบ 500 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุน รวมถึง Sony Interactive Entertainment, Tencent, Index Ventures และ Greylock ของ Reid Hoffman ขณะที่ Microsoft เคยเสนอราคาให้กับแพลตฟอร์มดังกล่าวถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในขณะที่ Clubhouse ที่เปิดตัวในช่วงการแพร่ระบาดก็ได้ขยายฐานผู้ใช้อย่างรวดเร็วส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าหลายพันล้าน หลังจากที่เปิดตัวในเดือนเมษายน 2020 ซึ่งมีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มการสนทนาด้วยเสียงแบบสด โดยผู้ที่จะใช้งานต้องได้รับเชิญเท่านั้น ปัจจุบัน บริษัทได้ขยายจากที่สามารถโหลดได้เฉพาะ iOS ไปเป็น Android แล้ว

เสียงคอนเทนต์ที่อยู่ยงคงกระพันที่สุด

หลังจากที่มัวอย่างความสำเร็จให้เห็น ยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดียได้เปิดตัวบริการที่คล้ายกัน เริ่มจาก Twitter ที่เปิดตัวฟีเจอร์ Spaces เพื่อให้ผู้ใช้สามารถคลิกจากทวีตเพื่อเข้าสู่แชทสดได้ ส่วน Facebook ก็ประกาศที่จะทำฟีเจอร์ Live Audio Rooms ที่จะคล้าย ๆ กับ Clubhouse ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ LinkedIn ของ Microsoft กำลังเพิ่มฟีเจอร์เสียงด้วยเช่นกัน ส่วน Spotify ได้ซื้อ Betty Labs ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Locker Room ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Clubhouse

“เสียงเป็นสื่อที่เก่าที่สุด … เรารวมตัวกับคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มเล็ก ๆ และพูดคุยกันมาตั้งแต่เริ่มอารยธรรม เสียงจึงเป็นเป็นสื่ออยู่ยงคงกระพันที่สุด” Paul Davison ซีอีโอของ Clubhouse กล่าว

สุดท้ายแล้ว ปัญหาเดียวของ โซเชียลเสียง น่าจะเป็นเรื่องของ เวลา และ ความน่าสนใจ เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ตัวเลขผู้ใช้ Clubhouse ลดลง เพราะไม่ได้มีผู้พูดระดับแม่เหล็กอย่าง Elon Musk CEO ของ Tesla และ Mark Zuckerberg CEO ของ Facebook ที่เคยดึงดูดผู้ฟังจำนวนมาก ดังนั้น แม้เสียงเป็นเป็นสื่ออยู่ยงคงกระพันที่สุด แต่จากนี้จะดึงคนฟังได้แค่ไหนก็คงต้องขึ้นอยู่กับผู้พูดแล้วล่ะ

Source