Shopping Online มาแล้วจ้า

ไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ของยักษ์ใหญ่ เนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าเปิดตัวบริการนี้อย่างเป็นทางการ 2 แห่ง นำโดยเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนสโตร์ (CDS) ตามด้วยเดอะมอลล์ กรุ๊ป ขณะที่บิ๊กซีซึ่งให้บริการสั่งซื้อสินค้าทางเว็บไซต์แต่ต้องมารับที่สาขา มานานร่วม 1 ปี แต่ก็ยังไม่ได้บทสรุปของการเป็นเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ครบวงจร มาดูกันว่าเทรนด์นี้ปะทุขึ้นมาได้อย่างไร

ที่เห็นตรงกันคือ “Internet Penetration” ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2553 นี้ ด้วยอัตราการเติบโต 660% เป็น 17.5 ล้านคน

ขณะเดียวกันคนไทยที่เป็นกลุ่ม Trend Setter ก็คุ้นชินกับการซื้อตั๋วเครื่องบินและห้องพักโรงแรมผ่านช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว การจะต่อยอดมาที่ช้อปปิ้งจึงเป็นเรื่องง่าย ขณะที่ปัญหาความกังวลเรื่องกลลวงการตัดบัตรเครดิตก็ได้รับการผ่อนคลายลงจากธนาคารหลายแห่ง เช่น กสิกรไทย กรุงเทพ ที่ทำหน้าที่ดูแลระบบ Gateway ให้กับเว็บไซต์หลายแห่ง

แน่นอนว่าการตอบโจทย์ผู้บริโภคเรื่อง “ความสะดวกสบาย” พวกเขาได้สร้าง My time ขึ้นมาเองไม่ง้อเวลาเปิด-ปิดของห้าง และช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง ถึงแม้จะต้องรอสินค้าจัดส่งมาถึงบ้านก็ตาม เหมาะกับผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของห้างฯ หรืออาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีสาขาของห้างฯ ให้บริการ และยังร่วมโปรโมชั่นได้ โดยไม่ต้องมาช้อปที่สาขาโดยตรง โดยเฉพาะกับโปรโมชั่นที่มี Timing เป็นตัวกำหนด เช่น มิดไนต์เซล

ถึงแม้ตัวเลขโดยเฉลี่ยของคนทั่วโลกที่เข้ามาในเว็บไซต์เหล่านี้ มีเพียง 3% เท่านั้นที่คลิกซื้อสินค้า แต่ก็หอมหวานมากพอที่จะทำให้ลงทุนเพื่อเกิดรายได้ที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อรายใหญ่ลงมาเล่นเองย่อมมาพร้อมกับ “ความน่าเชื่อถิอ” เนื่องจากมีห้างที่เป็น Physical Format อยู่แล้ว มีชื่อเสียงจากการทำธุรกิจค้าปลีกมานาน ขณะที่ E-Commerce ทั่วไปอาจอยู่ในรูปแบบของรายเล็กรายน้อย นอกจากนี้ยังต้องจับตาเครือ CRC ที่นอกจาก CDS และท็อปส์ แล้วยังจะมี Business Unit อื่นๆ ตามมา รวมถึงเทสโก้ ที่มีโมเดลและโนว์ฮาวเรื่องนี้ในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันทุกรายเห็นตรงกันว่า วิธีการช้อปปิ้งออนไลน์จะต้องมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก กล่าวคือ ต้องจบขั้นตอนทุกอย่างให้ได้ภายใน 3 คลิก

อีกปัจจัยที่ส่งเสริมเทรนด์นี้คือ ห้างเองก็ต้องการ “เพิ่มช่องทางหารายได้” ในต่างประเทศที่ค้าปลีกรุดหน้า ยอดขายจากช่องทางนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่ตัวเลข Ticket Size ของบิ๊กซีในช่องทางนี้มากกว่า Ticket Size ในสาขาถึง 3 เท่า

ยุวดี จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด วิเคราะห์ว่า ในไทยเองอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีสัดส่วนยอดขายจากช่องทางนี้ 5% และสำหรับ CDS เองตั้งเป้า 10% ภายใน 10 ปี

CRC ลงทุนซอฟต์แวร์และระบบรักษาความปลอดภัย 50 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายปีแรก 350 ล้านบาท เทียบเท่ากับสาขาขนาดเล็กของ CDS เท่ากับว่างบลงทุนที่น้อยลง แต่ให้ผลเท่ากับสาขาๆ หนึ่งเลยทีเดียว โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่วางไว้ คือ อายุ 25-34 ปี ขณะที่กลุ่ม High Spending คือ อายุ 35-49 ปี

ส่วนเดอะมอลล์ กรุ๊ป ลงทุนไป 100 ล้านบาท คาดยอดขายปีแรก 400 ล้านบาท จับกลุ่มเป้าหมายหลักใกล้เคียงกัน คือ 20-40 ปี โดยใช้ชื่อโครงการว่า Mods ย่อมาจาก M Online Department Store ซึ่งเดอะมอลล์ ไม่ได้หวังแค่ให้เป็นเว็บอีคอมเมิร์ซ แต่ต้องการเชื่อมโยงไปสู่การทำห้างสรรพสินค้าออนไลน์ เพื่อเข้าถึงพฤติกรรมลูกค้ายุคนี้ ขณะที่บิ๊กซีหวังน้อย คาดว่าภายใน 2 ปีจะมียอดขายจากช่องทางนี้ 100 ล้านบาท

ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา เราจึงเห็นปรากฏการณ์ “ยกห้างลงเน็ต” กันอย่างเอิกเกริกเวลานี้

กลุ่มคนที่เรียกว่า Home Cocooning ถูกจับตามองว่าน่าจะเป็นลูกค้าเป้าหมายของห้างสรรพสินค้าออนไลน์ โดยไม่ได้มองเรื่องของราคา แต่ด้วยความพร้อมทั้งเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกในโลกออนไลน์ และการคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตภายในบ้าน

ชุติมา วิริยมหกุล Vice President Account Planning Directorจาก DraftFCB บอกว่า Home Cocooning เป็นเทรนด์ผู้บริโภคที่น่าจับตามองในปี 2011 เพราะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญพวกเขายอมจ่ายเพื่อความสะดวกสบายของชีวิตภายในบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะเปิดโอกาสในการช้อปปิ้งออนไลน์ให้กับพวกเขา เพราะกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้จัดอยู่ในขั้นกระเป๋าหนักพอควร และ Home Cocooning ก็จะเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยผลักดันให้ช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยเติบโตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน