โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุผู้ป่วยมะเร็ง หนึ่งในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่าคนที่ไม่มีโรคหรือไม่ได้เจ็บป่วย หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แนะรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย เพราะปลอดภัยกว่าวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต อ้างอิงจากสมาคมมะเร็งสหรัฐอเมริกา เผยผู้ป่วยมะเร็งที่สิ้นสุดการรักษาแล้ว และผู้มีประวัติเป็นมะเร็ง รวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับวัคซีนได้ทันที แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ในระหว่างการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาให้ช่วยกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับวัคซีน โดยโรงพยาบาลพร้อมให้บริการวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งให้ผู้ป่วยมะเร็งและบุคคลทั่วไปทันทีที่วัคซีนทางเลือกมาถึง
นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อตั้งโดยร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท โมเดอร์นฟอร์ม เฮลท์แอนด์แคร์ จำกัด (มหาชน) “MHC” กับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านมะเร็งรักษาและมะเร็งวิทยา เปิดเผยว่า นอกจากผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวจะเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งรวมทั้งผู้มีประวัติเป็นโรคมะเร็งนับจัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงสูงที่หากติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากโรคมะเร็งและกระบวนการดูแลและรักษาจะส่งผลต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้ต่ำลง และยังใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูนานกว่าผู้ป่วยโรคปกติทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันและเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดด้วยการใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หรือสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นใช้งานร่วมกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น แออัด หรือพื้นที่ปิด และจำเป็นต้องรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเป็นอีกแนวทางที่ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค กรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ลดอาการและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมมะเร็งสหรัฐอเมริกา หรือ American Cancer Society ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีน โควิด-19 สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สามารถรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบก่อนการตัดสินใจเลือกรับวัคซีนในหลายปัจจัย อาทิ ประเภทของวัคซีน ประเภทของมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น และผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วงของการรักษามะเร็งหรือไม่ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานปกติหรือยัง และการเลือกประเภทของวัคซีน โดยการเลือกชนิดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยมะเร็งควรใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย เนื่องจากวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต หรือ Live attenuated vaccine อาจไม่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอหรือบกพร่อง
ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งจัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว โดยผู้ป่วยมะเร็งที่สิ้นสุดการรักษาแล้ว สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที ส่วนผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ในกระบวนการของการรักษาโรค ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษาเพื่อช่วยกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับวัคซีนของผู้ป่วยมะเร็งแต่ละรายก่อนรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงของอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรับวัคซีน
“อีกหนึ่งความกังวลที่มีครอบครัวผู้ป่วยมะเร็งที่ถามยังโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก คือ กลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ และควรรับวัคซีนประเภทใด ซึ่งสมาคมมะเร็งสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งควรรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายเช่นกัน และไม่แนะนำให้ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อมีชีวิตหรือ Live attenuated vaccine เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมะเร็งได้ โดยโรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตราพร้อมให้บริการวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้มีประวัติเคยเป็นมะเร็ง และบุคคลทั่วไป ทันทีที่ได้รับวัคซีนทางเลือก” นายแพทย์ธนุตม์ กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกที่โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา www.chiwamitra.com