บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มอบซิมการ์ดพัฒนาฝีมือแรงงานออนไลน์ จำนวน 500 ชุด ให้แก่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่แรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
การบริจาคซิมการ์ดนี้จะช่วยให้แรงงานคนพิการในทุกสาขาอาชีพและกลุ่มเปราะบาง สามารถฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านระบบออนไลน์ สอดคล้องกับแผนพัฒนาทักษะอาชีพของกระทรวงฯ โดยหัวเว่ยมุ่งหวังสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การมอบซิมแรงงานนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในราคาย่อมเยา มอบโอกาสในการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ได้จากโลกดิจิทัล พร้อมเชื่อมโยงผู้เรียนกับครูผู้สอนในห้องเรียนเสมือนทางออนไลน์ได้
โครงการนี้ยังย้ำให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยและรัฐบาลไทย ในการสนับสนุนการศึกษาด้านดิจิทัลที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึง และส่งเสริมการพัฒนาทักษะไอที การสร้างงานซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาด ตลอดจนการสร้างสรรค์อีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีทีอันจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุค 4.0 อย่างสมบูรณ์
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงแรงงาน เน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะออนไลน์ให้แก่กลุ่มเปราะบางในสังคมว่า “คนพิการและผู้ที่ต้องตกงานจากสถานการณ์โควิด สามารถใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การสร้างและการจ้างงานที่มีคุณค่าสูงและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้” เธอกล่าว “ดิฉันขอขอบคุณบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้ให้การสนับสนุนแรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถนำซิมการ์ดดังกล่าวไปใช้ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อให้ได้รับความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็งได้”
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราได้ทำงานประสานกับกระทรวงแรงงานมาโดยตลอด เพื่อให้ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในยุคดิจิทัล การพัฒนาทักษะสามารถช่วยแก้ไขความท้าทายหลายรูปแบบ เพราะจะช่วยให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล เราเชื่อว่า ในโลกดิจิทัล ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังนั้น เราจึงทุ่มเทสนับสนุนโครงการ ที่ช่วยสร้างบุคลากรด้านไอทีเพื่อรองรับอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้เปราะบาง เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้เช่นกัน”
จากสถานการณ์การแพร่ระบาด หัวเว่ยมุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโลกดิจิทัลแก่คนจำนวนมากขึ้น ผ่านการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในสังคมดิจิทัลได้ และการมอบซิมแรงงานก็เป็นเครื่องยืนยันภารกิจของหัวเว่ยที่มีมายาวนาน ที่อยากเห็นคนไทยทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และมีบุคลากรเก่ง ๆ ด้านดิจิทัลที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังโตขึ้นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการสู้กับโควิด-19 และช่วยให้คนไทยปลอดภัยจากการติดเชื้อ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้บริจาคเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ต่าง ๆ ให้แก่กระทรวงแรงงาน หัวเว่ยหวังที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีงานทำ และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในที่ทำงาน
ในฐานะผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีและสมาร์ทดีไวซ์ ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 22 ปี หัวเว่ยเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันการทรานสฟอร์มไปสู่ระบบดิจิทัลของประเทศไทย บริษัทได้ทุ่มเทให้กับการมอบคุณค่าทางสังคมให้สังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง และช่วยบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศโดยเฉพาะในยุคนิวนอร์มอล หัวเว่ยได้ริเริ่มโครงการสถาบันหัวเว่ย อาเซียน อะแคเดมี่ (ประเทศไทย) หรือ Huawei ASEAN Academy (Thailand) โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรด้านไอซีทีให้ได้ 50,000 คน ในระยะเวลาห้าปี โดยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ตามนโยบายการสร้างงานระยะยาวของกระทรวงแรงงาน หัวเว่ยได้เข้าร่วมงาน Job Expo Thailand และรับสมัครตำแหน่งงานราว 1,000 ตำแหน่ง ผ่านขั้นตอนการสมัครที่ง่ายและรวดเร็ว เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ หัวเว่ยร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยังเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การสร้างและพัฒนา Application” แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรด้านดิจิทัลของไทยด้วย