กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)กระทรวงพาณิชย์ เผยผลสำเร็จในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ เจรจาการค้าตลาดคู่ค้าสำคัญ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ผ่านระบบออนไลน์ One-On-One Virtual Meeting โดยมีผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์ไทย-เทศตอบรับเข้าร่วมจำนวน 216 นัดหมาย สร้างมูลค่ารวม 430.1ล้านบาท
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “จากนโยบายสร้างไทยเป็นฮับของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) วางแผนผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้จัดการเจรจาการค้างาน Asian Digital Content Virtual Business Matching ขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2564 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ One-On-One Virtual Meeting โดยผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน จำนวน 31 ราย เข้าร่วมเจรจาธุรกิจออนไลน์กับผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์ไทย จำนวน 20 ราย รวมจำนวน 216 นัดหมาย สร้างมูลค่าเจรจาการค้าได้ตามเป้าหมายรวม 430.1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าการเจรจาการค้าด้านคาแรคเตอร์ 86.6 ล้านบาท ซึ่งประเภทของการบริการที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ Character Licensing and Merchandising ในขณะที่มูลค่าการเจรจาการค้าด้านแอนิเมชั่น343.5 ล้านบาท โดยประเภทของการบริการที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ VFX and Computer Graphic Service
ตัวอย่างผู้ประกอบการด้านดิจิทัลคอนเทนท์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศที่ให้ความสนใจผลงานของบริษัทไทย อาทิ บริษัท King Records บริษัทด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ยักษ์ใหญ่ครบวงจรจากประเทศญี่ปุ่น เจ้าของวง AKB48 และ การ์ตูนแอนิเมะ Evangelion บริษัท PlatinumGames จากญี่ปุ่นผู้ผลิตและเผยแพร่เกมแอคชั่น (Console/PC) ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น เกม BAYONETTA, NieR : Automata และ บริษัท Next Animation Studio ซึ่งเป็นบริษัทแอนิเมชั่นในไต้หวันที่เป็นบริษัทในเครือของบริษัท Apple Digital News ซึ่งเป็นช่องข่าวโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงในประเทศฮ่องกง เป็นต้น
นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนท์ไทย (DCAT) กล่าวถึงโอกาสที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า “งาน Asian Digital Content Virtual Business Matching เป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเชิงรุกให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ของไทยในช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินทางไปพบปะลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งการเจรจาธุรกิจในงานนี้ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจคาแรคเตอร์ได้พบปะลูกค้าต่างชาติใหม่ๆ จำนวนมากที่ให้ความสนใจคาแรคเตอร์ไทย ส่งผลให้เกิดโอกาสในการต่อยอดทางด้านลิขสิทธิ์ในต่าง ประเทศมากยิ่งขึ้น”
นายนพ ธรรมวานิช นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กล่าว ถึงความสำเร็จจากการเจรจาการค้าในงานนี้ว่า “ในแง่อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นผลสำเร็จจากการเจรจาธุรกิจในโครงการนี้ได้สร้างความแตกต่างจากกิจกรรมเจรจาการค้าในงานอื่นๆ คือก่อให้เกิดการสร้างโอกาสในการต่อยอดทางด้าน Original IP ในหลายรูปแบบ ทั้งการซื้อขายลิขสิทธิ์ การร่วมทุน (Co-Production) ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทย นอกจากนี้บริษัทต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจที่จะจ้างงานในรูปแบบ Outsource มากขึ้นอีกด้วย”
Related