“ดีป้า” ลุยต่อโครงการ Coding Thailand ยกระดับกำลังคนของชาติสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ

การขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนดิจิทัลในทุกระดับถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่เป็นรากฐานของสังคมไทยในการเติบโตไปสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต วันนี้เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์และร่วมพูดคุยกับ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ภารกิจในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งและทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย และบทบาทของดีป้าในการสนับสนุนกิจกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ดร.รัฐศาสตร์ กล่าวว่า เริ่มแรก ดีป้า เดินหน้าส่งเสริมทักษะด้าน “โค้ดดิ้ง” โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินโครงการ Coding Thailand เพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลแก่กำลังคน บ่มเพาะเด็กและเยาวชนสู่การเป็นผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในอนาคต โดยในปี 2561 ดีป้า ได้ร่วมมือกับ Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในรูปแบบออนไลน์ชั้นนำระดับโลก พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ ไมโครซอฟท์, กูเกิล ฯลฯ พัฒนาแพลตฟอร์ม Coding Thailand.org พร้อมเนื้อหาการเรียนรู้ที่มีผู้เข้าถึงมากกว่า 1 ล้านคน

ถัดมาในปี 2562 ดีป้าได้ส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้แก่โรงเรียนนำร่อง 200 โรงเรียนครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้มี depaYoung Maker Space เพื่อเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านวิทยาการคำนวณ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และโค้ดดิ้งพื้นฐาน พร้อมทั้งเสริมแกร่งให้ครูผู้สอนจากโรงเรียนนำร่อง เพื่อนำไปจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานต่อเนื่องพร้อมเสริมแรงขับเคลื่อนด้วยการผนึกกำลังความร่วมมือกับพันธมิตรภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการบูรณาการการทำงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แก่บุคลากรและกำลังคนของประเทศทั้งเสริมแกร่งครูผู้สอนกว่า 3,000 คนจากกว่า 2,000 โรงเรียน เพื่อขยายผลโดยการนำความรู้ด้านการพัฒนามาถ่ายทอดแก่นักเรียน 2.26 แสนคน

ดร.รัฐศาสตร์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า ดีป้า ได้ส่งเสริมให้นักเรียนและครูมีพัฒนาการในหลายส่วนอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเรียนวิทยาการคำนวณของนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งในปี 2563 สนับสนุนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งแห่งศตวรรษที่ 21 จำนวน 10 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชน และผู้สนใจ อีกทั้งสามารถเปิดให้ชุมชนหรือโรงเรียนใกล้เคียงได้เข้ามาใช้บริการ และในปี 2564 ดีป้า สนับสนุนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 78 แห่ง ซึ่งจะครอบคลุมระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ทั้งโรงเรียนในเขตเมือง นอกเมือง รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และยังรวมไปถึงโรงเรียนเฉพาะความพิการ ส่วนในปี 2565 ตั้งเป้าพัฒนาโรงเรียนอีก 200 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ดีป้า ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาอบรมต่อยอดของคุณครู จำนวน 600 ราย แบ่งเป็นโครงการ d Teacher จำนวน 400 คนจากทั่วประเทศ สำหรับครูที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม โดยมีหลักสูตรที่สอน คือ 1) การใช้โปรแกรม Minecraft Education Edition และ โปรแกรม MIT App Inventor 2) เสริมสร้างทักษะ Coding เขียนการวางแผนและออกแบบโปรแกรมเบื้องต้น 3) การเรียนออนไลน์และวิธีใช้สื่อออนไลน์ เช่น Facebook, YouTube, Google เป็นต้นอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการ depa Teacher Boost Camp เป้าหมาย 200 คนทั่วประเทศ สำหรับครูที่สอนวิทยาการคำนวณของโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT and AI หลักสูตรที่สอน คือ 1) การเขียนโปรแกรม (Coding) เพื่อควบคุมอุปกรณ์ 2) การเขียนโปรแกรมสั่งงานระยะไกล IoT 3) การบูรณาการการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ STEM

สำหรับกิจกรรมอบรมต่อยอดของนักเรียนมีเป้าหมายพัฒนาจำนวน 15,700 ราย แบ่ง 2 โครงการได้แก่ Coding in Your area ที่จุดประกายโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัวนักเรียน โดยมีเป้าหมาย 15,000 คนทั่วประเทศ ดำเนิน 5 พื้นที่เป้าหมายผ่านมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวกลางในพื้นที่คือ ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อีกโครงการหนึ่งคือ CODEKATHON มีเป้าหมาย 700 คน และเกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน 140 นวัตกรรม ซึ่งนำนักเรียนที่ผ่านการอบรมโครงการ Coding in Your Area และนักเรียนทั่วไปที่สนใจมาลงแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ด้านโค้ดดิ้งในสนามจริงใน 4 ธีม คือ Smart Farm, Smart Living, Smart Community และ Smart Environment

ทั้งนี้ ดีป้ายังเคยต่อยอดโครงการ Coding Thailand เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้าน Coding โดยสร้างการรับรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านไอดอลที่ ด้วยการนำเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอตอย่าง BNK 48 มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ใน CodingThailand x BNK48 the Inspiration Series เพื่อสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจในการก้าวสู่โลกแห่งการ Coding ซึ่งในปีนี้ ดีป้า ได้ใช้ตัวแทนจากวงSWEAT16 รวมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์จากภูมิภาคต่างๆ มาสอนเรื่องทักษะพื้นฐานของการเรียนโค้ดดิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาและคำสั่งของคอมพิวเตอร์ STEM Education, Computational Thinking, Flowchart หรือ Algorithm, Encryption Decryption การเข้ารหัสและการถอดรหัส เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้น้องๆ Gen Z และเกิดองค์ความรู้ด้านทักษะโค้ดดิ้งไปมากกว่า 2 แสนราย

“หากนับตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ที่ ดีป้า เริ่มส่งเสริมการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง สามารถสร้างการรับรู้และกระตุ้นความสนใจในทักษะโค้ดดิ้งที่จะเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญผ่านแพลตฟอร์มมากกว่า 1.32 ล้านคน พัฒนาบุคลากรครูมากกว่า 3,800 คน พัฒนาทักษะเยาวชนมากกว่า 2.99แสนคน และส่งเสริมให้โรงเรียนเข้าถึงการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Coding กว่า 2,250 แห่ง” รองผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าว

นอกจากนี้ ดร.รัฐศาสตร์ เผยว่า โครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT and AI ในปีงบประมาณ 2564 นั้น ดีป้า ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน 78 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม โดยพิจารณาอุปกรณ์และแผนการพัฒนาสถาบันการศึกษาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากผ่านเกณฑ์การพิจารณา ดีป้า จะสนับสนุนโรงเรียนละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากโรงเรียนทั่วประเทศ โดยโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาจะได้รับงบประมาณเพื่อนำไปจัดหาอุปกรณ์ดิจิทัลหรือสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะด้าน Coding, STEM, IoT and AI รวมถึงการปรับปรุงต่อเติมห้องเรียนให้มีความทันสมัย

“ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลจำนวนมาก โดยข้อมูลจากการคาดการณ์อัตราแรงงานที่ต้องการปี พ.ศ. 2563 – 2567 จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติพบว่า มีความต้องการแรงงานสูงถึง 29,020 คน ประกอบด้วย 10 อันดับอาชีพดิจิทัลที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซอฟต์แวร์และการประยุกต์ ธุรกิจคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ สาขาแอนิเมชัน และการบริหารโครงการสารสนเทศ โดยข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม (S-Curve) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปี 2560 พบว่าผู้สำเร็จการศึกษาด้านดิจิทัลมีเพียง 7,742 คน ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับความต้องการในอนาคต” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว

ทั้งนี้ทิศทางของนานาชาติต่างขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจด้วยข้อมูลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะของกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและอนาคต โดย ดีป้าจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างกำลังคนดิจิทัลที่มีความพร้อม ทั้งกลุ่มนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดหรือภาคอุตสาหกรรม รวมถึงบุคลากรและแรงงานปัจจุบันให้มีความพร้อมในด้านทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที

“ดีป้า ยังคงเดินหน้าเสริมสร้างและพัฒนาความรู้ ทักษะ และความชำนาญให้กับกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อการยกระดับกำลังคนของชาติให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและภาคงานธุรกิจ-อุตสาหกรรม ตลอดจนภาคการศึกษา เพื่อระดมกำลังเสริมสร้าง Human Capital ของประเทศให้มีทักษะดิจิทัลตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นที่ยอมรับของภาคอุตสาหกรรม หรือได้รับการรับรองตามมาตรฐานประกาศนียบัตรสากล”ดร.รัฐศาสตร์กล่าวปิดท้าย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมหรือดูรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ Facebook: depa Thailand, Website: www.depa.or.th, Facebook: CodingThailand by depa หรือเข้าไปเล่นเกมโค้ดดิ้งสนุกๆ ได้ที่ CodingThailand.org