หลายคนคงเคยได้ยินข่าวว่า ‘เฟซบุ๊ก’ (Facebook) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเบอร์ต้น ๆ ของโลกได้ถูกคณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission (FTC) ยื่นฟ้องในข้อหาผูกขาดตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื่องจากไล่ซื้อคู่แข่งหลายราย อีกทั้งยังมีเงื่อนไข API ที่ไม่เป็นธรรม แต่ล่าสุดศาลก็ออกมายกฟ้อง ซึ่งส่งผลให้มูลค่าบริษัทของ Facebook ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก
ย้อนไปช่วงปลายปี 2020 FTC ได้ฟ้อง Facebook ในข้อหาการผูกขาดตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื่องจากเฟซบุ๊กมีพฤติกรรมปิดกั้นการแข่งขัน ตั้งแต่การซื้อบริษัทที่มีโอกาสมาเป็นคู่แข่งในอนาคต อาทิ WhastApp, Instagram และกำหนดเงื่อนไขใน API ว่าห้ามนำไปใช้ทำฟีเจอร์บางอย่างแข่งกับ Facebook รวมถึงห้ามใช้โปรโมตหรือเชื่อมต่อกับบริการโซเชียลอื่น ๆ
โดยในคำฟ้องดังกล่าว FTC ร่วมกับอัยการจาก 46 รัฐทั่วอเมริกา และ 2 เขตพิเศษคือ DC/Guam ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลเขต DC ขอให้สั่งแยกธุรกิจ Instagram กับ WhatsApp ออกมา และให้ศาลสั่งห้าม Facebook กำหนดเงื่อนไขบีบนักพัฒนา และ Facebook ต้องยื่นขออนุมัติการซื้อกิจการในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐบาลกลางได้ยกฟ้องการร้องเรียนต่อต้านการผูกขาดของ FTC โดยผู้พิพากษา James Boasberg แห่งศาลแขวงสหรัฐฯ ประจำ District of Columbia ตัดสินว่า หน่วยงาน ล้มเหลว ในการให้หลักฐานสำหรับการอ้างว่ายักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายนั้นผูกขาดในตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดย FTC ไม่ได้มีข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนการยืนยันว่า Facebook ถือหุ้นเกิน 60% ของตลาดโซเชียลมีเดีย
หลังสิ้นสุดคำตัดสินหุ้นของ Facebook เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ดันให้มูลค่าตลาดของบริษัทให้สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก จากที่ Facebook เริ่มเข้าตลาดหุ้นในปี 2012 โดยมีมูลค่ากิจการที่ราว 1.04 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ FTC กำลังตรวจสอบความคิดเห็นของผู้พิพากษาอย่างใกล้ชิดและกำหนดขั้นตอนต่อไป และมีความยินดีที่การตัดสินใจของวันนี้รับรู้ข้อบกพร่องในการร้องเรียนรัฐบาลฟ้อง Facebook โฆษกของหน่วยงาน Lindsay Kryzak กล่าว
ขณะที่ตัวแทนของ Ken Buck ตัวแทนพรรครีพับลิกันในคณะกรรมการตุลาการสภาผู้แทนราษฎรสภาคองเกรส ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า
“คดีของ FTC ต่อ Facebook แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการต่อต้านการผูกขาดโดยด่วน โดยจำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือและทรัพยากรเพิ่มเติมให้กับผู้บังคับใช้การต่อต้านการผูกขาดของเรา เพื่อดำเนินการตามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการต่อต้านการแข่งขัน”