- เมอร์เซเดส–เบนซ์ปรับทิศทางธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มความหลากหลายของการขายและการบริการ ภายใต้เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจในอนาคต
- กลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขาย (retail optimization strategy) ใหม่ มุ่งเน้นการเพิ่มจุดขายและบริการ โดยใช้ศูนย์บริการเป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์เมอร์เซเดส–เบนซ์ให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารเพื่อสื่อภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์ลักชัวรีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
เมอร์เซเดส–เบนซ์ (ประเทศไทย) ประกาศปรับกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพในการขาย (retail optimization strategy) เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมให้ศูนย์บริการสำหรับการกำหนดกลยุทธ์ใหม่รับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะให้บริการผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พร้อมนำเสนอซับแบรนด์ที่หลากหลายให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ผ่านการผสานช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เมอร์เซเดส–เบนซ์ยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือและให้การสนับสนุนด้านกลยุทธ์แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส–เบนซ์อย่างเป็นทางการทั่วประเทศผ่านกลยุทธ์ใหม่นี้
มร. โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไม่ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่ ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทุกวันนี้ผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ทุกอย่างได้ทางออนไลน์ นี่จึงเป็นที่มาให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ตัดสินใจประกาศจุดยืนเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับทิศทางการทำธุรกิจในรูปแบบของการเพิ่มความหลากหลายทางการขายและการบริการ เมอร์เซเดส–เบนซ์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและขั้นตอนการซื้อรถยนต์ของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง จากการวิจัยของเรา ลูกค้ามากถึง 97% เลือกค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ก่อนมาที่โชว์รูม และลูกค้าจำนวน 50% ยังเลือกสำรวจรายละเอียดของรถยนต์แบบดิจิทัล (digital navigation) ก่อนมาชมรถยนต์คันจริง นั่นหมายความว่า การสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ก่อนที่จะเชื่อมต่อลูกค้ามายังศูนย์บริการเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเมอร์เซเดส–เบนซ์ ซึ่งด้วยแรงผลักดันจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องพฤติกรรมของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 เมอร์เซเดส-เบนซ์จึงวางเป้าหมายที่จะรีเซ็ตเครือข่ายของเราเพื่อรองรับการขายในรูปแบบใหม่ และเพราะความกล้าในการก้าวข้ามขีดจำกัดเป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของเมอร์เซเดส–เบนซ์มาตลอดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนิน กลยุทธ์การขายใหม่ในครั้งนี้”
เมอร์เซเดส–เบนซ์ตั้งเป้าเพิ่มความหลากหลายของการขายและการบริการภายใต้หลักการของความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนวิธีการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ใน 5 ส่วน ได้แก่
· การคิดและทำในสไตล์แบรนด์ลักชัวรี – ด้วยพฤติกรรมการซื้อและการเป็นเจ้าของแบรนด์ลักชัวรีของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมอร์เซเดส-เบนซ์จึงพร้อมเสนอแนวทางใหม่ในการทำธุรกิจเพื่อตอบรับความคาดหวังของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น
· มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างมีกำไร – ด้วยความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ทั้งในส่วนของการขาย การวางแผนการผลิต และการจัดการด้านลอจิสติกส์ ช่วยให้เมอร์เซเดส-เบนซ์พร้อมสำหรับแผนการเติบโตรูปแบบใหม่
· ขยายฐานลูกค้าด้วยการขยายซับแบรนด์ – ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายในพอร์ตโฟลิโอของเรา โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งรุ่น EV และ PHEV เมอร์เซเดส-เบนซ์จะโฟกัสไปที่การสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และเตรียมทั้งผลิตภัณฑ์และอะไหล่ไว้รองรับความต้องการให้เพียงพอ
· รักษาฐานลูกค้าพร้อมเพิ่มรายได้ – การสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังพร้อมสานต่อการขายและการบริการสู่ช่องทางออฟไลน์ที่ศูนย์บริการได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ
· ปรับฐานต้นทุนให้ต่ำลงแต่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ – ซึ่งนำไปสู่นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพในการขายของโชว์รูมพร้อมมาตรการสนับสนุน
ภายใต้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการขายและการบริการแบบใหม่ สิ่งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ตั้งเป้าหมายไว้คือการเพิ่มปริมาณการขายต่อจุดขายและบุคลากร ตลอดจนการเพิ่มการเติบโตของธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปกับการเติบโตของศูนย์บริการ เมอร์เซเดส-เบนซ์พร้อมเพิ่มความหลากหลายในรูปแบบการขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มศูนย์บริการเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เมอร์เซเดส-เบนซ์ยืนยันว่า โชว์รูมและศูนย์บริการจะยังคงเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ แต่เราต้องปรับบทบาทใหม่ โดยเปลี่ยนโชว์รูมให้กลาย touchpoint ที่ช่วย “เติมเต็มประสบการณ์” และให้ลูกค้า “สามารถกำหนดทุกอย่างได้ตามความต้องการ” ซึ่งภายใต้ทิศทางใหม่นี้ ลูกค้าจะสามารถเชื่อมต่อกับแบรนด์เมอร์เซเดส–เบนซ์ได้ก่อนผ่านช่องทางออนไลน์ ก่อนที่แบรนด์จะพาลูกค้าเชื่อมต่อไปยังช่องทางออฟไลน์ที่โชว์รูมและศูนย์บริการได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งนี่คือวิธีการที่เมอร์เซเดส–เบนซ์สามารถบริหารงานได้อย่างมีความยืดหยุ่นและสะดวกขึ้นสำหรับลูกค้า ทั้งยังเป็นการบริหารงานที่มีความยั่งยืนมากขึ้นสำหรับพันธมิตรในระยะยาว
เกี่ยวกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี
เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี เป็นผู้รับผิดชอบธุรกิจทั่วโลกของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ และรถตู้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 173,000 คนทั่วโลก โดยมี โอล่า คัลเลนเนียส เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนา ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ รถตู้ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังมีเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำของโลกในด้านการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ยานยนต์ไร้คนขับ และยานยนต์ทางเลือก โดยการใช้นวัตกรรมล้ำสมัยต่าง ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกอบด้วยแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ และแบรนด์ย่อย เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี เมอร์เซเดส-มายบัค และเมอร์เซเดส-มี รวมทั้งแบรนด์สมาร์ท และแบรนด์อีคิว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์โดยสารระดับพรีเมี่ยมรายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2563 บริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกือบ 2.4 ล้านคัน และรถตู้กว่า 438,000 คัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ขยายเครือข่ายการผลิตใน 2 กลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยมีฐานการผลิตกว่า 40 แห่งใน 4 ทวีป ควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการในด้านยานยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน บริษัทได้พัฒนาเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ของตัวเองทั่วโลกใน 3 ทวีป การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสองกลุ่มธุรกิจ สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ความยั่งยืนหมายถึงการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในระยะยาว ทั้งลูกค้า พนักงาน นักลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคมโดยรวม โดยอาศัยพื้นฐานของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเดมเลอร์ ซึ่งมุ่งรับผิดชอบต่อผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และสังคม จากกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัท และให้ความสำคัญต่อห่วงโซ่คุณค่าโดยรวม
Related