ฟังรัฐมนตรีสิงคโปร์ “โลกต้องเริ่ม! เตรียมรับมือการระบาดใหญ่ครั้งหน้า”

ไม่ใช่รอให้โควิด-19 จบแล้วค่อยเตรียมตัว! รัฐมนตรีอาวุโสของสิงคโปร์ธาร์แมน แชนมูการัตนัม” (Tharman Shanmugaratnam) ส่งสัญญาณกลางงานประชุม G-20 ว่าการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นโลกจึงควรเริ่มเตรียมพร้อมรับมือภัยครั้งหน้าตั้งแต่ตอนนี้

รัฐมนตรีอาวุโสของสิงคโปร์คนนี้เป็นประธานร่วมของคณะกรรมการ G-20 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้รวมตัวเผยแพร่รายงานเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลักคิดของธาร์แมนคือการเสนอมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดและตอบสนองต่อการแพร่ระบาดในอนาคตอย่างรวดเร็ว

ธาร์แมนไม่ได้ย้ำว่ามาตรการนี้จะช่วยลดความเสียหาย หรือนำไปสู่การพลิกฟื้นที่ว่องไวกว่าวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ธาร์แมนโฟกัสเรื่องการระดมทุนที่ดีขึ้นและเชื่อมั่นได้มากขึ้นเพื่อติดอาวุธให้องค์การอนามัยโลก รวมถึงสถาบันพหุภาคีทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สามารถช่วยระดมทุนในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ทันท่วงที

โรคใหม่เกิดได้ทุกเมื่อ

ธาร์แมน แชนมูการัตนัม คือหนึ่งในกลไกหลักผู้ปั้นนโยบายเศรษฐกิจและการศึกษาให้สิงคโปร์ จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ปี 2007-2015 ธาร์แมนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี 2003-2008 ด้วย มุมมองของรัฐมนตรีอาวุโสของสิงคโปร์คนนี้ที่ว่าการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงเป็นเสียงกระทุ้งชาวโลกที่มีน้ำหนักมากอย่างไม่ควรมองข้าม

ธาร์แมนเป็นบุคคลที่มีภาพความเป็นนักการเมืองน้ำดีและนักเศรษฐศาสตร์มือหนึ่งที่น่าเชื่อถือ ปัจจุบัน ธาร์แมนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส รัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายทางสังคม ประธานธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) และประธานสภา National Jobs Council แห่งชาติ 

ตามประวัติ ธาร์แมนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤศจิกายน 2001 และได้รับเลือกอีก 4 สมัยนับตั้งแต่นั้น ทั้งหมดเป็นผลจากความตั้งใจจริงของเด็กชายธาร์แมนที่เริ่มต้นเรียนที่สิงคโปร์บ้านเกิด ก่อนจะบินไปศึกษาที่สถาบันด้านเศรษฐศาสตร์ที่ลอนดอน แล้วไปต่อที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ต่อมาจึงคว้าปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่เคนเนดีสคูลออฟกอฟเวิร์นเมนต์ในเครือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พ่วงด้วยรางวัล Lucius N Littauer Fellow เพราะทำผลงานวิจัยสุดโดดเด่น

ในด้านชีวิตส่วนตัว ธาร์แมนแต่งงานกับ Jane Yumiko Ittogi ทนายความลูกครึ่งญี่ปุ่นจีนซึ่งย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์ตั้งแต่ 6 ขวบ จนตอนนี้หันมานั่งเก้าอี้ประธานพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ยาวนาน 10 ปีและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการริเริ่มการพัฒนาสังคมแดนเมอร์ไลออน ทั้งคู่มีลูกสาว 1 คนและลูกชาย 3 คน

สำหรับงานประชุม G-20 ที่อิตาลี ธาร์แมนย้ำกับผู้สื่อข่าว CNBC ว่าโลกต้องเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับภัยครั้งหน้าตั้งแต่ตอนนี้ แถมยังบอกว่าชาวโลกไม่มีเวลาหรูหราพอที่จะรอให้โควิดหมดไปก่อนแล้วจึงจะค่อยเริ่มเตรียมการสำหรับโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไป เพราะการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้น สิ่งที่ชาวโลกควรทำคือการใช้ความพยายามในปัจจุบันที่ใช้แก้ไขปัญหาโควิดในขณะนี้ มาสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นในการรับมือกับโรคระบาดครั้งต่อไป

ไอเดียนี้ไม่ได้โอเวอร์เกินไป เพราะพิษของโควิด-19 ส่งผลร้ายแรงต่อทุกภาคส่วนของโลก ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โคโรนาไวรัสซึ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศจีนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 186 ล้านคน และทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนทั่วโลก (รวบรวมข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์)

เงินทองต้องพร้อม

หากเจาะลึกในมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ครั้งหน้าอย่างรวดเร็ว ของคณะผู้เชี่ยวชาญระดับโลกกลุ่ม G-20 ที่นำเสนอโดยมีธาร์แมนเป็นประธานร่วมของคณะกรรมการ ร่วมกับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก จะพบว่าหนึ่งในเนื้อหาของมาตรการหลักคือการระดมทุนที่ดีขึ้นและเชื่อมั่นได้มากขึ้น” 

ประเด็นนี้ ธาร์แมนเสริมว่าระบบระหว่างประเทศในปัจจุบัน ทั้งองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศล้วนยังไม่ตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ทั่วโลกได้ดีนัก เพราะยังมีความกระจัดกระจาย และขาดทุนสนับสนุน เพื่ออุดช่องว่างนี้ คณะผู้พิจารณาเสนอให้จัดตั้งกองทุนระดับโลกขึ้นใหม่ด้วยเงินขั้นต่ำ 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีหรือ 328,700 ล้านบาท

รัฐมนตรีสิงคโปร์อธิบายว่า แม้ระบบโลกจะมีธรรมาภิบาลด้านสุขภาพภายใต้สมัชชาอนามัยโลกและองค์การอนามัยโลก แต่สิ่งที่ยังขาดหายไป คือโลกไม่มีระบบที่นำการเงินมารวมกับสุขภาพ และนี่เป็นสาเหตุที่ระบบไม่ได้รับทุนสนับสนุนที่ดีพอ

ธาร์แมนย้ำว่าปัญหาคือองค์กรโลกเหล่านี้ตอบสนองหรือลงมือแก้ปัญหาหลังจากเกิดเหตุการณ์หรือเกิดวิกฤตขึ้นแล้ว ทำให้ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตในอนาคตแบบเชิงรุกได้ การจัดการกับวิกฤติระดับโลกจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 

สิ่งที่ต้องจับตาดูนับจากนี้ คือใครจะเป็นเจ้าภาพเพื่อเตรียมพร้อมให้ โลกรับมือการระบาดใหญ่ครั้งหน้าตั้งแต่ตอนนี้ หากทำได้จริง ความเสียหายก็อาจจะไม่ขยายตัววงกว้าง และจะฟื้นฟูได้ง่ายกว่าแน่นอน.

ที่มา