“ณุศาศิริ” สางปมชุดตรวจ ATK จีน “Lepu” ที่จำหน่ายให้ อภ. ใช้ได้จริง เยอรมนีรับรอง

“ณุศาศิริ” ออกโรงแจงยิบดีลประมูลขายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุดให้ อภ. ซึ่งจะสั่งซื้อจาก Beijing Lepu Medical Technology ประเทศจีน “ใช้ได้จริง” เยอรมนีให้การรับรอง แม่นยำ 92% กรณี FDA สหรัฐฯ เรียกคืนสินค้าเนื่องจากมีผู้ลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ชี้เข้าประมูลครั้งนี้เพื่อหวังจัดซื้อพ่วงในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว-อีเวนต์

ประเด็นร้อนข้ามสัปดาห์สำหรับสัญญาการจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยเป็นโครงการที่จะนำมาแจกจ่ายผ่านระบบของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งต้องผ่านทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดการประมูลจัดซื้อ

ผลปรากฏว่าผู้ชนะประมูลคือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เสนอราคาต่ำสุดที่ 65 บาทต่อชุด (ยังไม่รวม VAT) คิดเป็นมูลค่าดีล 595 ล้านบาท สินค้าที่จะนำเข้ามาคือ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” เป็น ATK ชนิดตรวจ swab ทางโพรงจมูก ผลิตโดยบริษัท Beijing Lepu Medical Technology ประเทศจีน

แต่หลังจากนั้นเกิดเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สปสช. หรือ ชมรมแพทย์ชนบท ที่ออกมาต่อต้าน ATK จาก “Lepu” สุดตัว ให้เหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแม้ราคาถูกแต่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อ้างอิงข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยาหรือ FDA ของสหรัฐฯ เคย “เรียกคืน” สินค้ายี่ห้อนี้จากท้องตลาดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 จนล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขจำต้องสั่งชะลอการนำเข้า ATK ล็อตนี้ไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

สางปม “ประสิทธิภาพ” ชุดตรวจ “Lepu”

ต่อประเด็นนี้ “ศิริญา เทพเจริญ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และ “รังสินี หวังมั่น” product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เปิดโต๊ะแถลงออนไลน์ชี้แจงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564  เพื่อยืนยันว่าชุดตรวจของ “Lepu” ที่จะนำเข้านั้นมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้

ชุดตรวจ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” เวอร์ชันที่จำหน่ายอยู่ในเยอรมนี (ภาพจาก : ออสท์แลนด์ แคปปิตอล)

รังสินีอธิบายถึงประเด็นข้อกังขาต่อประสิทธิภาพ ATK ของ Beijing Lepu Medical Technology เนื่องมาจากการเรียกคืนของ FDA สหรัฐฯ เกิดขึ้นเพราะมีผู้ลักลอบนำเข้าสินค้า โดยที่ Lepu ไม่เคยเข้าไปทำตลาดเอง จึงไม่มีการขึ้นทะเบียนกับ FDA มาตั้งแต่ต้น เมื่อมีผู้ลักลอบนำเข้าสินค้า สหรัฐฯ จึงต้องเรียกคืนมิให้ขายในท้องตลาด (อ่านประกาศแจ้งเตือนของ FDA สหรัฐฯ ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสินค้ามีประสิทธิภาพ เพราะบริษัท Beijing Lepu Medical Technology จำหน่ายสินค้า “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ไปหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปที่ได้รับการรับรองจากเยอรมนี และมีจำหน่ายในเยอรมนี ออสเตรีย โรมาเนีย สโลวีเนีย เป็นต้น พร้อมข้อมูลรับรองประสิทธิภาพของเยอรมนีให้ผลความไวที่ 92.0% (Positioning ตรวจสอบพบข้อมูลการรับรองดังกล่าวของ EU อัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ตามเอกสารในลิงก์นี้)

เอกสารรายชื่อ Antigen Test Kit ที่ได้รับการรับรองใน EU

นอกจากนี้ ชุดตรวจ ATK ของ Lepu ยังผ่านการตรวจสอบรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยเรียบร้อยแล้ว โดยให้ผลความไวมากกว่า 90% ตามเกณฑ์ที่ยอมรับได้

 

เบื้องหลังดีล “ณุศาศิริ” ลงทุน 100% หวังซื้อพ่วง

ส่วนการจับมือกันเข้าประมูลดีลนี้กับ อภ. “ศิริญา” ชี้แจงว่า บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของณุศาศิริ เป็นผู้ลงทุนเอง 100% และจะเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายในประเทศ แต่จับมือกับออสท์แลนด์เพราะออสท์แลนด์เป็นผู้ถือใบอนุญาตนำเข้าสินค้าและมีข้อมูลในวงการเครื่องมือแพทย์ ทางออสท์แลนด์จะได้ส่วนแบ่งกำไรจากดีลล็อตนี้ 20%

สาเหตุที่เวิลด์ เมดิคอลหรือ “ณุศาศิริ” สนใจร่วมวงการจัดซื้อ ATK เนื่องจากบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีโครงการ มาย โอโซน เขาใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด จึงต้องการจัดซื้อ ATK จำนวนมากมาใช้ในบริษัทและจำหน่ายทั่วไป รวมถึงมีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและอีเวนต์อีกหลายแห่งที่ต้องการสั่งซื้อพ่วง

“ศิริญา เทพเจริญ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน)

ที่ผ่านมาเวิลด์ เมดิคอลเคยจัดซื้อ ATK มาแล้วหลายหมื่นชุด เช่น มีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK แบบตรวจหาเชื้อจากน้ำลายมานำเข้าจากสวีเดน รวมถึงชุดตรวจของ Lepu บริษัทก็จัดซื้อส่วนตัวไปแล้วเพื่อใช้ในบริษัทและจำหน่ายทั่วไป โดยล็อตแรกจะบินเข้ามาวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ จำนวน 5 แสนชุด แต่เนื่องจากสั่งซื้อจำนวนน้อย ทำให้บริษัทได้มาในราคาถึง 195 บาทต่อชุด

เป็นเหตุให้บริษัทเล็งเห็นว่าหากชนะประมูลดีล “บิ๊กล็อต” ของ อภ. จะทำให้บริษัทได้ซื้อพ่วงในราคาที่ถูกลงมาก ตามปรากฏราคาปลายทางคือ 65 บาท โดยบริษัทณุศาศิริและเพื่อนร่วมวงการท่องเที่ยว-อีเวนต์เบื้องต้นมีดีมานด์สั่งซื้อพ่วงอยู่ประมาณ 1-2 ล้านชุด

 

ชมรมแพทย์ชนบทอ้างวิจัยปากีฯ “Lepu” ใช้ไม่ได้ผล

ก่อนหน้าการแถลงของณุศาศิริ ในวันเดียวกันมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก Facebook Page ของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ระบุถึงผลวิจัยของชุดตรวจ ATK ของ Beijing Lepu Medical Technology ทั้งแบบ swab โพรงจมูกและแบบตรวจด้วยน้ำลาย เทียบกับการตรวจด้วย RT-PCR ที่ประเทศปากีสถาน พร้อมตีพิมพ์ผลวิจัยแล้วในวารสาร Virology Journal วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ATK ของ Lepu แบบ swab โพรงจมูกให้ผลความไวที่ 52% หรือให้ผลลบปลอมถึง 48% ต่ำกว่าค่าความไวที่โรงงานผู้ผลิตระบุว่าสูง 90% เป็นผลให้ปากีสถานระบุว่าชุดตรวจนี้ไม่เหมาะในการนำมาใช้งานจริง (คลิกอ่านข้อมูลจากชมรมแพทย์ชนบทที่นี่)

งานนี้ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ดีลประมูลรอบนี้จะถูก “ล้ม” หรือไม่!