Plant-based Food อาจดิสรัปต์เนื้อสัตว์จริงภายใน 3 ปี เพราะปัญหา ‘สิ่งแวดล้อม’

ตลาดเนื้อทำจากพืชปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี เนื่องจากดีต่อสุขภาพมากกว่า รวมถึงดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า และเพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็น ‘แต้มต่อ’ ในอนาคตสำหรับสินค้าส่งออก

ภาวะลดโลกร้อน ตัวกระตุ้นหลักแพลนท์เบส

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มีข้อพิสูจน์ว่าโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ และถ้าไม่รีบแก้ระบบการผลิตอาหารจะล่มสลายภายในปี 2070-2080 ทำให้สหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งภาษีสินค้าที่ ‘ปล่อยคาร์บอนสูง’ เพื่อจะปรับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ดังนั้น ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกจะเริ่มใส่ใจกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากสินค้าทั่วโลก จากนี้บริษัทไหนยังไม่คำนึงถึงการปล่อยคาร์บอน ต่อไปการแข่งขันจะเริ่มหายโดยเฉพาะตลาดส่งออก

อย่างในต่างประเทศตลาดแพลนท์เบสมากขึ้น อาทิ สหรัฐฯ ที่ 51-53% ของครัวเรือนรับประทานแพลนท์เบส ส่วนประชากรออสเตรเลียกว่า 20% ก็ทานมังสวิรัติหรือวีแกน เป็นต้น นอกจากนี้ คาร์กิลล์ยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของโลกคาดการณ์ 10 ปีข้างหน้า อาหารประเภทโปรตีนจากสัตว์จะถูกดิสรัปต์อย่างมาก โดยเฉพาะจาก เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cell-Based Meat) ซึ่งเป็นการเพาะเนื้อในห้องแล็บสำหรับบริโภค

ปัจจุบัน ราคาของแพลนท์เบสจะอยู่ที่ 400-500 บาทต่อกิโลกรัม แต่ภายในปี 2568 ราคาจะต่ำเหลือ 300 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น ผู้บริโภคจะยิ่งเข้าถึงได้ง่าย

ตัวอย่างอาหารเนื้อทำจากพืชในเครือข่ายพันธมิตร NRF

“อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไทยต้องปรับตัวเเล้ว ถ้าเราไม่ปรับเขาจะบังคับเราให้ปรับด้วยภาษีนำเข้า ดังนั้น รัฐบาลต้องผลักดันให้ไทยหันมาผลิตอย่างยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนน้อย เราเองปรับมาเเล้ว 3 ปีต้องยอมรับว่าไม่ง่าย ถ้าไม่รีบทำต่อไปจะมีปัญหาโดยเฉพาะต้นทุน แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าว

ตลาดไทยโต 100%

ในส่วนของตลาดประเทศไทยคาดว่ามันอัตราการเติบโตเกิน 100% โดยพบว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อ 3 ปีที่แล้วมีจำนวนสินค้าไม่ถึง 10 SKU แต่ปัจจุบันมีกว่า 40 SKU มูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้น จะเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ เครือ CP ที่เริ่มลงทุนในตลาดแพลนท์เบสมากขึ้น

สำหรับบริษัทจะเริ่มรุกตลาดแพลนท์เบสในไตรมาส 3 และในไตรมาส 4 จะเปิดตัวธุรกิจร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้ารักษ์โลกและอาหารแพลนท์เบสที่ร่วมกับ ปตท. และในส่วนของภาคการผลิตบริษัทยังคงขยายอย่างต่อเนื่อง อาทิ อังกฤษและสหรัฐฯ มีกำลังการผลิตใหญ่ราว 3,600 ตันต่อวัน จีน 1,500-3,000 ตันต่อวัน ส่วนโรงงานผลิตโปรตีนจากพืชในไทย ซึ่งร่วมทุนกับ ปตท. คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปีหน้าโดยจะมีกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อวันในเฟสแรก

นอกจากนี้ บริษัทกำลังทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพในการพัฒนาเทคโนโลยี Cell-Based Meat โดยคาดว่าจะได้เห็นใน 3 ปี ซึ่งเชื่อว่าอนาคตผู้บริโภคจะเเบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มรักสุขภาพคิดเป็นกว่า 80% 2. กลุ่มทานเจ และ 3. วีแกน (Vegan)

Cell-Based Meat

เน้นลงทุนอีคอมเมิร์ซ เร่งโตก้าวกระโดด

บริษัทได้วางงบลงทุน 2,000 ล้านบาทใน SME ที่ขายสินค้าเกี่ยวกับอาหารที่ขายดีท็อป 5 บนเว็บไซต์ Amazon.com เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยบริษัทลงทุนแล้ว 400 ล้านบาทใน 2 บริษัท และในสิ้นปีนี้จะลงทุนอีกประมาณ 3 ดีลใช้งบอีก 500-600 ล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนในโครงการ WellPath ที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินหลากแบรนด์ เช่น Pure Apple Cider Vinegar Gummies, Boost Elderberry Gummies, และ Vital Turmeric Gummies ปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายสินค้าทั้งหมด 11 SKU

“เราจะดึงสินค้าที่เราลงทุนมาขายในอาเซียน รวมถึงนำสินค้าของเราให้จำหน่ายในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เรามีแผนจะสร้างโรงงานผลิตในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยเราพยายามสร้างฐานในตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก เพราะเรามั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้ แต่จีนอีก 2-3 ปีข้างหน้าอาจเป็นประเทศค่อนข้างปิด เน้นเศรษฐกิจในประเทศ”

จากการลงทุนดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะช่วยทำให้รายได้เติบโตเป็น 4,000-5,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 ล้านบาท โดยภายในสิ้นปีนี้คาดว่ารายได้จากอีคอมเมิร์ซและทวีปอเมริกาเหนือจะมีสัดส่วน 20% และภายในปี 2567 จะเพิ่มเป็น 50% ที่เหลือเป็นรายได้จากเอเชีย 25% และยุโรป 25%