หรือระบบกำลังมีปัญหา?

มีทฤษฎีมากมายที่พยายามจะหาว่า ‘ปัจจัย’ อะไร ที่ทำให้ประเทศๆ หนึ่งเจริญก้าวหน้าได้ ตั้งแต่สถานที่ตั้งของประเทศ สภาพอากาศ ชาติพันธ์ุ วัฒนธรรม หรือ กระทั่งศาสนา ในปี 2012 หนังสือชื่อ ‘Why Nations Fail’ ได้ถูกตีพิมพ์ออกมา โดยหนังสือเล่มนี้ได้สรุปว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่สามารถทำให้ประเทศๆหนึ่ งเจริญได้คือ ‘ระบบสถาบันการเมือง’ เพราะการมีระบบการเมืองที่ดีก็จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ดีอีกทอดหนึ่ง

หากมองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่แทบจะไม่มีทรัพยากรใดๆ แต่ ‘ลีกวนยู กลับสามารถสร้างชาติสิงคโปร์ให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถทำทั้งหมดนี้ได้เพียงแค่ในหนึ่งช่วงอายุคนเท่านั้น

สิ่งที่ลีกวนยูให้ความสำคัญที่สุดก็คือการสร้างชาติผ่านระบบการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ การมองภาพรวม และการวางแผนระยะยาว ทำให้ทฤษฎีที่ว่าชาติจะเจริญได้ต้องมี ‘ระบบการเมือง ที่ดี ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปนัก

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาทั้งในแง่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความขัดแย้งทางด้านการเมือง ในมุมหนึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ได้เปิดโปงให้เห็นถึงหลากหลายปัญหาทั้งในด้านบุคคล และระบบ แตกต่างจากความขัดแย้งครั้งก่อนๆ ที่ปัญหามักจะถูกเชื่อมโยงที่ตัวบุคคลเป็นหลัก จริงๆ แล้วไม่เพียงแค่ในประเทศไทยแต่ในหลากหลายประเทศทั่วโลกประชาชนก็กำลังรู้สึกว่า ‘ระบบ’ การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศตัวเองกำลังมีปัญหา

Source: Ipsos

ใน 25 ประเทศและกว่า 19,000 คน ที่ Ipsos ได้ทำการสำรวจพบว่า

  • 71% เห็นด้วยว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเองเอื้อประโยชน์ต่อคนรวย และคนที่มีอำนาจ
  • ในขณะที่ 68% เห็นด้วยว่า พรรคการเมือง และนักการเมืองไม่ได้ใส่ใจประชาชนทั่วๆ ไป

พูดง่ายๆ ว่าคนในหลายประเทศเหล่านี้รู้สึกว่า ‘ระบบมีปัญหา’ ถึงแม้ผลสำรวจนี้ไม่ได้มีการจัดทำขึ้นในประเทศไทย แต่เชื่อว่าผลลัพธ์ก็น่าจะออกมาในทิศทางเดียวกัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือมีการเอา ดัชนี ‘ระบบมีปัญหา’ นี้ มาพลอตกราฟหาความสัมพันธ์เทียบกับ ‘ความพัฒนาของสังคม’ ซึ่งเป็นข้อมูลจากองค์กร Social Progress พบว่าดัชนี ‘ระบบมีปัญหา’ นั้นมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับดัชนี ‘ความพัฒนาของสังคม’

หรืออธิบายอย่างง่ายๆ คือ ในประเทศที่ระบบการเมืองมีปัญหามาก ระดับการพัฒนาของสังคมนั้นๆ ก็จะแย่กว่าประเทศที่มีระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าประเทศโลกที่สามอย่าง เปรู โคลัมเบีย อยู่ค่อนไปทางซ้ายของกราฟ ที่แปลว่าระบบมีปัญหาค่อนข้างสูง และความพัฒนาของสังคมค่อนข้างต่ำ

ในขณะที่ประเทศโลกที่หนึ่งหรือประเทศที่เจริญแล้วอย่าง เยอรมัน สวีเดน หรือ แคนนาดา จะอยู่ไปทางขวาล่างของกราฟ ซึ่งแปลว่าเป็นประเทศที่ระบบการเมืองมีปัญหาน้อย และมีความเจริญก้าวหน้าทางสังคมสูง

Source: Ipsos & Socialprogress.org

หากให้คาดการณ์ประเทศไทยเราก็… น่าจะอยู่ใกล้เคียงกับมาเลเซียในกราฟนี้ ก็ได้แต่หวังว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เห็นถึงหลากหลายปัญหา และความขัดแย้งทางการเมืองในรอบนี้ จะทำให้เกิดการตกผลึกทางด้านความคิด และอุดมการณ์ ที่สามารถนำพาประเทศไปสู่ระบบการเมืองที่มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนรวม

ที่สุดแล้วเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวผ่านกับดับประเทศรายได้ปานกลาง และช่วยให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นได้