มร. เฟลิกซ์ ดนัย ลิงค์ กรรมการ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เป็นประธานในพิธี วางศิลาฤกษ์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (เอไออี-เอ็มทีพี) จำกัด เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม เดินหน้าจำหน่ายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูงให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียและกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (เอไออี-เอ็มทีพี) จำกัด ตั้งอยู่ใน นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็น 2 ใน 5 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นมาก มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 280 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. จำนวนรวม 60 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 25 ปี และส่วนที่เหลือ 220 เมกะวัตต์ เป็นการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียและกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อีกทั้งยังสามารถผลิตและจำหน่ายพลังงานไอน้ำให้ทั้ง 2 นิคมดังกล่าวรวม 180 ตันต่อชั่วโมง โดยมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565
นอกจาก 2 โครงการดังกล่าว บี.กริม เพาเวอร์ ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม อีก 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. รวม 90 เมกะวัตต์ ภายใต้ PPA ระยะเวลา 25 ปี มีกำหนดการ COD ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 เช่นกัน โดยโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 5 โครงการนี้ จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่มีคุณภาพสูงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 300 รายอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยจะขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมบริการด้านสาธารณูปโภคแบบครบวงจร และขยายพื้นที่การให้บริการที่นอกเหนือไปจากนิคมอุตสาหกรรมที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน มุ่งสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 50 โครงการ และตั้งเป้ากำลังการผลิตเติบโตจาก 3,058 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2563 เป็นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 7,200 เมกะวัตต์ในปี 2568 และมุ่งสู่ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยมีเป้าหมายรายได้ต่อปีกว่า 100,000 ล้านบาท