โลกร้อน ทำให้เกิด ‘ภัยพิบัติ’ เพิ่ม 5 เท่าในช่วง 50 ปี ระบบเตือนภัย ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น

Photo : Shutterstock
ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อ ‘ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การพัฒนา ‘ระบบเตือนภัยล่วงหน้า’ ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น เเต่ยังไม่ครอบคลุมในประเทศยากจน 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เปิดเผยข้อมูลว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดภัยพิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและน้ำ เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง ไฟป่า พายุโซนร้อนรุนแรงขึ้น’ เเละบ่อยครั้งขึ้น’ 

ตลอด 5 ทศวรรษ ระหว่างปี 1970 ถึง 2019 มีภัยพิบัติดังกล่าวมากกว่า 11,000 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2 ล้านคนเเละสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 3.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยมากกว่า 90% ของการเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศ เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา’ เเละสถานการณ์ภัยเเล้งที่รุนเเรงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 650,000 คน

เเต่ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติโดยรวมก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

ศาสตราจารย์ Petteri Taalas เลขาธิการ WMO กล่าวว่า ท่ามกลางตัวเลขสถิติที่เลวร้ายเราก็ยังมีความหวังอยู่

ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย นำไปสู่การลดอัตราการตายอย่างมีนัยสำคัญ พูดง่ายๆ ก็คือ เราช่วยชีวิตคนได้ดีกว่าในอดีต

ขณะที่การปรับปรุงระบบเตือนภัยกำลังช่วยชีวิตผู้คนได้มากขึ้น เเต่ก็ยัง ‘ไม่ทั่วถึง’ มากนัก โดยเฉพาะในประเทศยากจน เช่น ในทวีปแอฟริกา บางพื้นที่ของละตินอเมริกา ฯลฯ

ปัจจุบันมีเพียงครึ่งหนึ่งจาก 193 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ WMO เท่านั้น ที่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้ประชาชน

อีกมุมหนึ่ง จำนวนผู้ที่ต้องเสี่ยงต่อภัยพิบัติก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเติบโตของประชากรในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งมีความรุนแรงและความถี่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนเเปลงของสภาพอากาศ

องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาเรื้อรังหลังผู้คนจำนวนมากที่ต้องพลัดถิ่นด้วยอุทกภัย พายุ และภัยแล้ง โดยจะต้องมีการลงทุนมากขึ้น เพื่อจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้ครอบคลุม รวมไปถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะต้องเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเเผนระดับชาติและระดับท้องถิ่น

 

ที่มา : BBC , WMO