จะเห็นว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลต่อซัพพลายเชนทั่วโลก โดยเฉพาะซัพพลายเชนของสินค้า ‘อิเล็กทรอนิกส์’ เนื่องจากการใช้งานเทคโนโลยีที่มากขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าไอทีเป็นที่ต้องการ และในช่วงปี 2021 นี้ ‘ชิป’ หรือ ‘เซมิคอนดักเตอร์ชิป’ ที่ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญก็ขาดตลาดด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่แค่เรื่องขาดแคลนที่ทำให้เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกตัดสินใจที่จะทำ ‘ชิป’ ของตัวเอง
ชิปในท้องตลาดไม่ตอบโจทย์
บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของโลกหลายรายกำลังพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง เนื่องจาก ไม่พอใจกับการพึ่งพาชิปมาตรฐาน ที่มีความต้องการสูง โดยบริษัท อาทิ Apple, Amazon, Facebook, Tesla และ Baidu จากจีนต่างก็กำลังพัฒนาชิปมาใช้เอง
“บริษัทเหล่านี้ต้องการชิปที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเฉพาะของแอปพลิเคชันมากกว่าที่จะใช้ชิปทั่วไปแบบเดียวกันกับคู่แข่ง ด้วยสิ่งนี้ทำให้บริษัทเหล่านั้นควบคุมการผนวกรวมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ได้มากขึ้น ในขณะที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง” Syed Alam หัวหน้าฝ่ายเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกของ Accenture กล่าว
ด้าน Russ Shaw อดีตกรรมการของ Dialog Semiconductor กล่าวเสริมว่า ชิปที่ออกแบบเองสามารถ ทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้ลดการใช้พลังงาน
“ชิปที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเหล่านี้สามารถช่วยลดการใช้พลังงานสำหรับอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์จากบริษัทเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟนหรือบริการคลาวด์”
ปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกเป็นสาเหตุให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีความคิดที่จะทำชิปของตัวเอง โดย เกล็น ดอนเนลล์ ผู้อำนวยการวิจัยที่นักวิเคราะห์ บริษัท Forrester กล่าวว่า ”หลายบริษัทรู้สึกว่ามีข้อจำกัดในการก้าวสู่นวัตกรรมของตน”
ตัวอย่างที่ดีที่สุดในตลาดตอนนี้คือ Apple ที่ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศว่าจากไม่ใช้ชิปของ Intel ที่มีสถาปัตยกรรม x86 โดยหันไปสร้างโปรเซสเซอร์ M1 ของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ใช้งานอยู่ใน iMac และ iPads ใหม่
Tesla ที่ประกาศว่ากำลังสร้างชิป Dojo เพื่อฝึกเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในศูนย์ข้อมูล จากที่ปี 2019 บริษัทได้ เริ่มผลิตรถยนต์ด้วยชิป AI ที่เรียกว่า Hardware 3 ที่ช่วยให้ซอฟต์แวร์ออนบอร์ดตัดสินใจตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องถนน
เมื่อเดือนที่แล้ว Baidu ได้เปิดตัวชิป AI ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลจำนวนมากและเพิ่มพลังการประมวลผล โดย Baidu กล่าวว่าชิป Kunlun 2 เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก และสามารถใช้ได้ในสาขาที่หลากหลาย เช่น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และการผลิตสินค้าจำนวนมาก
ส่วน Google เพิ่งเปิดตัว Pixel 6 ที่มาพร้อมชิป ARM ของบริษัทเองไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก็มีรายงานใหม่ออกมาว่า บริษัทกำลังพัฒนาชิป ARM สำหรับใช้บน Chromebook เป็นของตัวเองด้วย โดยจะเริ่มใช้ภายในปี 2023
Amazon ซึ่งดำเนินการบริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังพัฒนาชิปเครือข่ายของตัวเองเพื่อขับเคลื่อนสวิตช์ฮาร์ดแวร์ที่ย้ายข้อมูลไปทั่วเครือข่าย ถ้ามันใช้งานได้ มันจะลดการพึ่งพา Broadcom ของ Amazon
นอกจากนี้ยังมี Facebook โดยหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ AI ของ Facebook บอกกับ Bloomberg ในปี 2019 ว่าบริษัทกำลังทำงานเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ประเภทใหม่ที่จะทำงาน แตกต่างอย่างมาก จากการออกแบบที่มีอยู่ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทาง Facebook ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในปัจจุบัน
ออกแบบแต่ไม่ผลิต
แม้จะมีแผนว่าจะทำชิปของตัวเอง แต่ไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายใดต้องการทำการพัฒนาชิปทั้งหมดด้วยตนเองเนื่องจากต้นทุนที่สูง โดยการตั้งโรงงานชิปขั้นสูงหรือโรงหล่อของ TSMC ผู้ผลิตเบอร์ 1 ของโลก มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์
“มันคือทั้งหมดที่เกี่ยวกับการออกแบบและเพิ่มประสิทธิภาพของชิป แต่มันไม่เกี่ยวกับการผลิต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แม้แต่ Google และ Apple ก็ยังลังเลที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น พวกเขาจะใช้บริการ TSMC หรือ Intel”
นอกจากนี้ ปัญหาการ ขาดแคลนผู้ที่มีทักษะในการออกแบบโปรเซสเซอร์ระดับสูง ใน Silicon Valley ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เพราะที่ผ่านมา Silicon Valley มักให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์เป็นอย่างมาก ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวิศวกรรมฮาร์ดแวร์มักถูกมองว่าไม่เจ๋งเท่า