‘Miniso’ ถือโอกาสค่าเช่าที่ในสหรัฐฯ ลด 20% เร่งเปิดหน้าร้านเพิ่ม 2 เท่า!

‘Miniso’ (มินิโซ) แบรนด์ค้าปลีกจากจีนที่คุ้นหน้าคุ้นตาชาวไทยเป็นอย่างดี แม้ตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้หน้าร้านทั่วโลกต้องปิดชั่วคราว ทำให้ต้องสูญเงินมหาศาลราว 215 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.1 พันล้านบาท แต่ล่าสุด Miniso ก็ถือโอกาสที่ห้างฯ ในสหรัฐลดค่าเช่าที่ เดินหน้าเปิดหน้าร้านเพิ่ม 2 เท่า

ปัจจุบัน มินิโซมีหน้าร้านรวมกว่า 4,800 แห่งทั่วโลกในกว่า 90 ประเทศ ส่วนในสหรัฐฯ มินิโซมี 30 สาขา โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มหน้าร้านเป็น 54 แห่งภายในสิ้นปีนี้ โดยสาเหตุที่มินิโซเร่งขยายสาขามาจากค่าเช่าที่ในห้างสรรพสินค้าของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 20% เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 โดยหนึ่งในหน้าร้านแห่งใหม่ที่เปิดจะเป็นร้านแฟลกชิปที่มีขนาดพื้นที่ 3,300 ตร.ม. โดยตั้งอยู่ในห้างฯ Tangram ในเมือง Flushing รัฐนิวยอร์ก

ไม่ใช่แค่ค่าเช่าที่ที่ถูกลง แต่จากพิษ COVID-19 ช่วยลดจำนวนคู่แข่งไปในตัว โดยแบรนด์อย่าง Flying Tiger Copenhagen เครือร้านวาไรตี้ของเดนมาร์กที่เป็นคู่แข่งกับมินิโซในหลายตลาดทั่วโลกจำต้องปิดร้าน 13 แห่งในสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มินิโซยังคงมีคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Daiso (ไดโซะ) ซึ่งเป็นเครือร้านทุกอย่าง 1 ดอลลาร์ของญี่ปุ่น ซึ่งทำตลดอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2005 โดยมีเครือข่ายร้านค้าเกือบ 80 แห่ง

“เราเชื่อเสมอมาว่าเราเป็นธุรกิจระหว่างประเทศ และอเมริกาเหนือเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์ของเรา เราเลือกที่จะขยายธุรกิจในสหรัฐฯ ในขณะนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านใหม่หลัง COVID-19 ลดลง” Vincent Huang รองประธานบริษัทที่รับผิดชอบด้านธุรกิจในต่างประเทศกล่าว

Vincent Huang กล่าวว่า มินิโซเห็นศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ โดยมีโอกาสจะขยายสาขาได้อีก หลายพันแห่ง โดยในช่วงครึ่งปีแรกยอดขายของมินิโซในสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวในระดับก่อนเกิด COVID-19 โดยเติบโตเพิ่มขึ้น 73% เมื่อเทียบเป็นรายปี

อย่างไรก็ตาม มินิโซไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขายในสหรัฐอเมริกาซึ่งเปิดสาขาแรกในแคลิฟอร์เนียในตั้งแต่ปี 2017 แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่ารายได้ประมาณ 20% จากรายได้รวม 1.41 พันล้านดอลลาร์ มาจากร้านค้าในต่างประเทศ 1,800 แห่ง ในประเทศต่าง ๆ เช่น เม็กซิโก อินโดนีเซีย และอินเดีย

“เราได้รับความนิยมมากกว่าที่เคยตั้งแต่เกิดโรคระบาด ท้ายที่สุด ผู้บริโภคไม่สนใจว่าเราจะเป็นชาวจีนหรือชาวญี่ปุ่น ชาวอเมริกันหรือชาวยุโรป สิ่งที่ผู้บริโภคกังวลคือพวกเขาสามารถซื้อสินค้าที่คุ้มค่าโดยใช้เงินน้อยที่สุดได้หรือไม่”

Source