ถ้าคิดจะตั้งคำถามถึงนโยบาย “ชั่งกิโลไข่ไก่” ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อแก้ปัญหาไข่แพง หลายคนคงอยากบอกว่า “คิดได้ไง” สู้เอาเวลาไปคิดอย่างอื่นที่สำคัญกว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ
นโยบายชั่งกิโลไข่ไก่ เป็นเพียง 1 ใน 9 ของขวัญประชาวิวัฒน์ ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศใช้ไปเมื่อต้นปี ที่กลายเป็นประเด็นร้อนทันที ไม่ใช่แค่ชั่งกิโลไข่ไก่เท่านั้น ยังมีเรื่องการให้สินเชื่อแท็กซี่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนทำงานกลางคืน ทยอยตามออกมา
8 ปี ของการเป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์รู้อิทธิฤทธิ์ Political Marketing ที่คู่แข่ง พรรคเพื่อไทย นำมาใช้อย่างได้ผลกับการออกแคมเปญ “ประชานิยม” แบบแจกแหลก โดนใจประชาชนระดับฐานราก กวาดคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมาแล้วถึง 2 ครั้ง
เมื่อมาเป็นรัฐบาลอุ้มสม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยโจมตีประชานิยมของพรรคคู่แข่งมาตลอด กลับหันมาเดินเกมกลยุทธ์การตลาดการเมืองแบบ Me Too Campaign ออกแคมเปญลักษณะเดียวกัน แม้จะพยายามเพียงเปลี่ยนชื่อ ใส่แพ็กเกจใหม่ แต่เนื้อในและเป้าหมายไม่ต่างกัน
พรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่า ตลาดแมสหรือคนในระดับฐานราก เป็นจุดอ่อนของพรรค ซึ่งฐานเสียงส่วนใหญ่มาจากคนชั้นกลาง หากจะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ต้องซื้อใจคนกลุ่มนี้ให้ได้เหมือนกับที่พรรคคู่แข่งทำมาแล้ว
ไม่มีใครปฏิเสธการที่รัฐบาลจะออกมาช่วยเหลือคนรายได้น้อย คนด้อยโอกาส ให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม เพียงแต่บทเรียนที่รัฐต้องควักงบประมาณ 2 แสนล้านบาท มาชดเชยการขาดทุนจากนโยบายประชานิยม เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็น่าจะรู้ดี
แม้จะถูกวิจารณ์จากนักวิชาการ และสื่อเพียงใดก็ตาม แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังคงตั้งหน้าตั้งตาผลักดัน “ประชาวิวัฒน์” ต่อไป
นับจากนี้ แผนโปรโมตประชาวิวัฒน์น่ามีขึ้นคึกคัก ทั้งอีเวนต์ ใช้สื่อต่างๆ ผ่านสื่อรัฐ ทีวี วิทยุ เคเบิลทีวี เรียลลิตี้ เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย หรือ Target Group ประชาชนระดับฐานรากในแต่ละกลุ่มโดยเร็ว
เพียงแต่รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าPolitical Marketing ผ่านสินค้าประชาวิวัฒน์ ต้องใช้งบประมาณและกลไกของรัฐมาอุดหนุน คงไม่ใช่แค่งบสองพันล้านบาทที่รัฐบาลพยายามบอกแน่ ยังมีหนี้ก้อนใหญ่ที่แบงก์รัฐต้องรับภาระในการปล่อยกู้ครั้งนี้รออยู่