ภายหลังที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ในการสร้าง “โรงพยาบาลสนาม ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” เพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง-ส้ม เฟสแรกจำนวนกว่า 405 เตียง ตั้งอยู่ที่โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคารคลังสินค้าของบริษัทดับบลิวเอชเอขนาด 15,294 ตารางเมตรสร้างเป็นโรงพยาบาลสนามที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก ถือเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกในประเทศที่มีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เต็มรูปแบบเพื่อทำการรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 เดือน โดยล่าสุดการก่อสร้างมีความคืบหน้าอย่างมากใกล้แล้วเสร็จ และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
นายศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบและก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสนามแห่งนี้วางแนวทางมาตฐานตามกฎระเบียบกระทรวงสาธารณสุข โดยดำเนินการก่อสร้างมาเป็นเวลา 25 วัน ขณะนี้ภาพรวมการปรับพื้นที่อาคาร และการติดตั้งระบบภายในคืบหน้ากว่า 97% โดยช่วงโค้งสุดท้ายจะทำการติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ครบวงจรได้ครบถ้วน ซึ่งในเฟสแรกจะรองรับผู้ป่วยได้รวม 405 เตียง แบ่งเป็นโซนผู้ป่วยสีส้ม จำนวน 88 เตียง โซนผู้ป่วยสีเหลืองเข้มและสีเหลืองอ่อน จำนวน 317 เตียง โดยมีการจัดพื้นที่เพื่อความปลอดภัยในการบริหารจัดการ มีส่วนที่พักของเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนงานบริการในการส่งอาหาร คัดแยกเสื้อผ้า และห้องขยะ ส่วนรองรับผู้ป่วยแต่ละโซนสี และส่วนลำเลียงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆในการเข้าออกสถานที่ซึ่งแยกออกจากโซนผู้ป่วย รวมทั้งมีการแบ่งโซนแยกผู้ป่วยชาย-หญิงอย่างชัดเจนด้วย
นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า โรงพยาบาลสนาม ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ ได้วางระบบให้มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก โดยมีการวางระบบด้านการแพทย์และนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1.การออกแบบท่อระบบระบายอากาศบริเวณหัวเตียงผู้ป่วยเพื่อดูดไอระเหยจากผู้ป่วยแต่ละเตียง ที่ตั้งใจออกแบบมาโดยเฉพาะให้เป็นท่อลมยาวต่อกันสามารถระบายอากาศได้สะดวกในครั้งเดียว ทั้งยังมีการการฆ่าเชื้อด้วยยูวีอีกครั้ง เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดภายในพื้นที่ 2.ระบบอากาศภายในโซนดูแลผู้ป่วยที่มีระบบ Negative pressure ที่อากาศภายในห้องซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่าจะไม่ไหลออกจากห้องเมื่อมีการเปิด-ปิดประตู และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่นๆ ขณะที่โซนของเจ้าหน้าที่ แพทย์พยาบาลเป็น Positive pressure ทำให้มีอากาศไหลออกจากห้อง อาศัยการอัดอากาศสะอาดเข้าในห้อง ทำให้ห้องอยู่สภาวะ Positive ป้องกันอากาศจากด้านนอกไหลเข้ามา เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อเข้ามาในห้อง 3.ติดตั้งระบบท่อกรองน้ำระบบ RO ในการกรองน้ำสะอาดสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะการใช้กับผู้ป่วยฟอกไตที่ต้องใช้น้ำสะอาดในการรักษา 4.ติดตั้งระบบก๊าซทางการแพทย์ ระบบออกซิเจน เป็นระบบจ่ายก๊าซเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและช่วยในการทำงานของเครื่องมือแพทย์โดยจะมีการเดินระบบนี้เข้าไปทุกเตียง
5.มีห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ห้องยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก 6.จุด Nurse Station ให้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้มอนิเตอร์ดูแลผู้ป่วย พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์พิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและทีมแพทย์ 7.ติดตั้งกล่องระบบสื่อสารบริเวณหัวเตียงผู้ป่วยในโซนสีส้มทุกเตียงเพื่อให้สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที 8.ติดตั้งระบบสื่อสารที่ครบสมบูรณ์ทั้งระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต CCTV อินเตอร์คอม และระบบเสียงตามสายทั่วพื้นที่ในโรงพยาบาลสนาม
นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่ WHA ดำเนินกิจการด้านโลจิสติกส์มีพื้นที่คลังสินค้าค่อนข้างมาก จึงเห็นสมควรที่จะนำคลังสินค้ามาพัฒนาสร้างประโยชน์เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยและประชาชน และล่าสุดถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการร่วมกันเป็นพันธมิตรสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง-ส้ม ซึ่งยังต้องช่วยเหลือกลุ่มนี้ต่อเนื่องและต้องประคองกลุ่มนี้ให้มากที่สุดเพื่อแบ่งเบาภาระในระบบสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ใช้คลังสินค้าย่านบางนาที่มีการคมนาคมสะดวกมีความปลอดภัย เพราะไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งชุมชนมาก แต่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ที่จะเข้ามาดูแลด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลสนามได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ตัวอาคารคลังสินค้าเดิมมีขนาดพื้นที่รวม 15,294 ตารางเมตร เป็นอาคารเก็บยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งมีระบบควบคุมที่ดีและทันสมัยถือเป็นพื้นที่ที่ได้มาตรฐาน เหมาะสมต่อการปรับเป็นโรงพยาบาลสนาม
พ.ญ.ธัญลักษณ์ ศรีบูระเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ กล่าวว่า กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ได้เตรียมพร้อมด้านศักยภาพการแพทย์ต่างๆเพื่อประจำการที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีความพร้อมในระดับเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก โดยจัดเตรียมทีมอายุรแพทย์ไม่ต่ำกว่า 15 คน พยาบาลและทีมสหวิชาชีพประมาณ 40-50 คน พร้อมทีมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์มาร่วมดูแลผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง-ส้ม เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่้ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้มีระบบและมาตรฐานอุปกรณ์การแพทย์ที่พร้อมและครบถ้วนเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก อาทิ ติดตั้งระบบออกซิเจนทุกเตียง มีเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ รวมทั้งมีเครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง (High Flow O2 FLO) จำนวน 200 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ 30 เครื่อง และที่สำคัญคือผู้ป่วยโควิด-19 บางรายจำเป็นต้องล้างไต ทางโรงพยาบาลสนามได้ติดตั้งระบบไตเทียมโมบายไว้รองรับกรณีมีผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน และถ้ามีกรณีผู้ป่วยหนักสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ที่อยู่ห่างเพียง 10 นาที นอกจากนี้ ภายในโรงพยาบาลสนามมีห้องยาและเวชภัณฑ์ ห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ตลอดจนมีนักโภชนาการในการดูแลอาหารผู้ป่วยเฉพาะโรค มีระบบบริหารจัดการเสื้อผ้าผู้ป่วยเสมือนในโรงพยาบาลหลัก มีการบริการรถกอล์ฟภายในเพื่อให้ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยในการบริการพาเข้าห้องน้ำหรืออาบน้ำรวม
“โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้มากขึ้น และช่วยแบ่งเบาภาระให้กับสาธารณสุขภาครัฐได้เป็นอย่างมาก โดยเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลสนามแห่งนี้สามารถช่วยรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลหลักอื่นๆในพื้นที่สีแดง และจังหวัดใกล้เคียงได้ส่งต่อผู้ป่วยโควิดมารักษาที่นี่ เพื่อให้โรงพยาบาลหลักอื่นๆ สามารถเปิดพื้นที่ในการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ (Non-Covid-19) ได้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคอื่นๆที่ต้องรอการรักษาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน”พ.ญ.ธัญลักษณ์กล่าว
Related