หลายคนอาจหงุดหงิดคิดว่าอินเทอร์เน็ตตัวเองมีปัญหา เพราะตั้งแต่ช่วงเวลา 22.00 น. ของวันที่ 4 ต.ค. แพลตฟอร์ม Facebook, Instagram, WhatsApp ได้ล่มจนเมื่อเวลา 06.00 น. ของวันนี้ (5 ต.ค.) เพิ่งเริ่มกลับมาทยอยใช้งานได้ ซึ่งจะการล่มดังกล่าวทำให้บริษัทสูญรายได้เกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมงที่แพลตฟอร์ม Social Media ของ ‘มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) ล่มพร้อมกันทั่วโลก โดยถือเป็นการล่มหนักสุดเมื่อปี 2008 ขณะที่ Fortune และ Snopes ได้ประมาณการว่าเครือข่ายโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้สูญเสียรายได้ไปแล้วอย่างน้อย 99.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้ที่หายไปเป็นการอ้างอิงรายได้ช่วงไตรมาส 2 ที่บริษัทได้เปิดเผย โดยในช่วงระยะเวลาสามเดือนนั้น Facebook รายงานรายรับประมาณ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายความว่า Facebook ทำรายได้ประมาณ 319.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน, 13.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง, 220,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อนาที และ 3,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อวินาที
การประมาณดังกล่าวถือเป็นการเน้นย้ำถึงผลกระทบทางการเงินจากการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในธุรกิจโฆษณาของ Facebook โดยบริษัทกล่าวว่ากำลังดำเนินการฟื้นฟูบริการ แต่ไม่ได้ระบุว่าอะไรเป็นสาเหตุของการล่มในครั้งนี้
แม้ทาง Facebook ไม่ได้แจ้งว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่สำนักข่าวใหญ่ ๆ อย่าง Reuters, CNBC และ AP รายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยออนไลน์และพนักงาน Facebook บางคนว่า อาจมาจากความผิดพลาดในระบบของ Facebook เอง หรืออาจเกิดจากอัปเดตการเชื่อมต่อ
“เราทราบดีว่ามีบางคนมีปัญหาในการเข้าถึงแอปฯ และผลิตภัณฑ์ของเรา เรากำลังดำเนินการเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ กลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด และเราขออภัยในความไม่สะดวก” Facebook ทวีตกล่าว
จากนั้นได้ออกมาทวิตอีกครั้งว่า “ถึงชุมชนขนาดใหญ่ของผู้คนและธุรกิจทั่วโลกที่พึ่งพาเรา เราขออภัย เราทำงานอย่างหนักเพื่อกู้คืนการเข้าถึงแอปฯ และบริการของเรา และยินดีที่จะรายงานว่าพวกเขากำลังกลับมาออนไลน์ ขอขอบคุณที่อดทนกับเรา”
รายได้ที่หายไปไม่ใช่ปัญหาทางการเงินเพียงอย่างเดียวที่ Facebook พบ เพราะหุ้นในบริษัทร่วงต่ำสุดถึง 5.6% มาอยู่ที่ 323.54 ดอลลาร์ต่อหุ้น ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ลดลงเหลือ 121.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการเทขายหุ้นในโซเชียลมีเดียในวงกว้าง (ส่วนแบ่งของ Twitter และ Snap ลดลงมากกว่า 5%) .
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นข่าวเชิงลบของ Facebook ที่เกิดขึ้นติดกันช่วงห่างกันไม่ถึง 1 วัน หลัง Frances Haugen อดีตผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ลาออกตั้งแต่พฤษภาคม และได้ออกมาเปิดตัวว่า ตนคือที่ผู้ให้ข้อมูลกับทั้ง WSJ และทางการสหรัฐฯ เพราะทนไม่ไหวที่อดีตต้นสังกัด เลือกธุรกิจและผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยและผลเสียที่จะตามมา โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน