Rivian ยานยนต์ไฟฟ้าคู่แข่ง Tesla ยื่นเปิด IPO แล้ว! ระดมทุนขยายโรงงาน-สถานีชาร์จ

Rivian IPO
สตาร์ทอัพที่น่าจับตามองของสหรัฐฯ “Rivian” คู่แข่งสำคัญของ Tesla ยื่นเอกสารไฟลิ่งเตรียมเปิด IPO ข้อมูลในเอกสารเปิดเผยการเร่งลงทุนในปีนี้ของบริษัท และแผนการลงทุนอีกมหาศาลเพื่อขยายโรงงานผลิต เครือข่ายสถานีชาร์จ และซอฟต์แวร์

Rivian สตาร์ทอัพอเมริกันรายนี้เป็นบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปที่ “รถกระบะ” และ “รถเอสยูวี” เพื่อฉีกแนวให้ต่างจากในตลาด โดยรถกระบะรุ่นแรก “R1T” เริ่มส่งมอบได้จริงแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ล่าสุด บริษัทได้ยื่นเอกสารไฟลิ่ง S-1 ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย เพื่อดำเนินการเปิด IPO ที่นักลงทุนต่างรอคอย

เอกสารไฟลิ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทใช้กระแสเงินสดไปมหาศาลเพื่อวิจัยพัฒนา ออกแบบ สร้าง และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่คืออุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนสูงมาก)

นอกจากนี้ ยังระบุถึงความสัมพันธ์กับบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ขณะนี้ เช่น Amazon, Ford และเวนเจอร์แคปิตอลอื่นๆ อีกหลายแห่ง

Rivian R1T และ Rivian R1S

สถานภาพการเงินของ Rivian ย้อนกลับไปปี 2019 มีผลขาดทุนสุทธิ 426 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,400 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เกิดจากการก่อสร้างโรงงานผลิตที่เมืองนอร์มอล รัฐอิลลินอยส์ เพื่อผลิตรถกระบะรุ่น R1T ที่เพิ่งจะส่งมอบไป และรถเอสยูวีรุ่น R1S โดยโรงงานแห่งนี้มีการจ้างงาน 6,274 คน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2021

อย่างไรก็ตาม บริษัทเคยรายงานกับสำนักข่าว TechCrunch ว่ามีการจ้างงานมากกว่า 8,000 คน เมื่อรวมทั้งโรงงานและออฟฟิศต่างๆ ทั้งในรัฐอาริโซนา รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐมิชิแกน รัฐอิลลินอยส์ รวมถึงในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตลอดจนสำนักงานในสหราชอาณาจักร

ผลขาดทุนของ Rivian ลดลงเล็กน้อยเมื่อปี 2020 ขาดทุนสุทธิ 377 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 12,750 ล้านบาท) ก่อนจะพุ่งทะยานขึ้นปีนี้ เฉพาะครึ่งปีแรก 2021 บริษัทขาดทุนสุทธิไปแล้ว 994 ล้านเหรียญ (ประมาณ 33,600 ล้านบาท) เนื่องจากการลงทุนผลิตที่เพิ่มขึ้นของรถ R1T และ R1S

โรงงานผลิตรถยนต์ Rivian

ในช่วงหลังนี้ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของ Rivian คือส่วนสำคัญที่ดันต้นทุนขึ้นไปมาก เฉพาะปี 2020 บริษัทลงทุนวิจัยและพัฒนาไป 766 ล้านเหรียญ (ประมาณ 26,200 ล้านบาท) และแค่ครึ่งปีแรกของปี 2021 บริษัทลงทุน R&D ไปแล้ว 683 ล้านเหรียญ (ประมาณ 23,100 ล้านบาท)

ค่าใช้จ่ายที่ไหลเป็นน้ำนี้น่าจะยังไม่หยุดแค่นี้ เพราะ Rivian คาดการณ์ว่าต้นทุนสะสมทั้งหมดน่าจะพุ่งไปถึง 8,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2023 เนื่องจากบริษัทจะมีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ โรงงานผลิตแบตเตอรี บริการหลังการขาย เครือข่ายสถานีชาร์จ และการพัฒนาซอฟต์แวร์

กลยุทธ์ของ Rivian หลังจากเริ่มขายรถอีวีคันแรกในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาแล้ว ต่อไปจะเริ่มขยายไปยังยุโรปตะวันตก ตามด้วยทวีปเอเชีย โดยบริษัทจะเปิดโรงงานผลิตในแต่ละภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดใหม่

Rivian ยังแจ้งด้วยว่าบริษัทมีคำสั่งจองรถ R1T และ R1S แล้ว 48,390 คัน ในตลาดสหรัฐฯ และแคนาดา อย่างไรก็ตาม คำสั่งจองที่ต้องวางเงินจอง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 33,800 บาท) ที่บริษัทได้รับมา ลูกค้ายังมีสิทธิขอคืนเงินจองได้ ทำให้อาจจะไม่เป็นยอดขายทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อนดีมานด์ของสินค้า

Source