หลังยุคสตรีมมิ่งบูมสุดขีด หลังฉากคือการทำงานหนักของบรรดา “คนกอง” เพื่อป้อนคอนเทนต์ให้ทันความต้องการ จนในที่สุดสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของ “ฮอลลีวู้ด” หมดความอดทน มีมติให้ “สไตรค์” เพื่อตอบโต้นายจ้าง เรียกร้องเวลาทำงานที่เหมาะสม จากปัจจุบันต้องทำงานกันถึง 70-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
International Alliance of Theatrical and Stage Employees (IATSE) สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวู้ด มีเครือข่ายสมาชิกกว่า 50,000 คน ทำงานในตำแหน่งต่างๆ เช่น ช่างกล้อง ช่างทำพร็อพประกอบฉาก ช่างทำผม ฯลฯ ลงมติโหวตคะแนนเสียงท่วมท้น 98% ว่าพวกเขาจะ “สไตรค์” เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง โดยต้องการชั่วโมงทำงานที่น้อยลง และค่าจ้างที่เป็นธรรม
ก่อนหน้านี้ IATSE มีการพูดคุยกับ Alliance of Motion Picture and Television Producers (AMPTP) แต่สุดท้ายแล้วตกลงกันไม่ได้ โดยทาง IATSE เป็นฝ่ายคว่ำโต๊ะเจรจา แม้ว่า AMPTP จะยินยอมขยับค่าจ้างขึ้น ลดชั่วโมงทำงาน และมีแผนให้สิทธิประกันสุขภาพกับเงินบำนาญหลังเกษียณมูลค่าเกือบ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 13,600 ล้านบาท) แล้ว แต่ดีลที่ได้ยังไม่น่าพึงพอใจ
“แมทธิว โลบ” ประธานสหภาพ IATSE กล่าวว่า ผลโหวตได้ “ประกาศอย่างชัดเจนและกึกก้อง” แล้วสำหรับจุดยืนของคนกอง “การโหวตครั้งนี้หมายถึงการเรียกร้องคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความปลอดภัยของคนทำงานในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์” โลบกล่าวในแถลงการณ์ “สำหรับคนที่ได้ค่าแรงต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม พวกเขาสมควรได้ค่าแรงที่ไม่น้อยไปกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ครองชีพได้จริง”
ทำงาน 70 ชม.ต่อสัปดาห์ อันตรายต่อสุขภาพ
หลายเดือนระหว่างการล็อกดาวน์เมื่อปี 2020 ทำให้กองถ่ายหนังและซีรีส์บูมสุดขีดในช่วงที่ผ่านมา และพนักงานกองถ่ายต่างกล่าวกันว่าดีมานด์ความต้องการตัวพวกเขาเริ่มแย่ยิ่งกว่าที่เคยเป็น
การประท้องบนท้องถนนของลอสแอนเจลิสและบนโซเชียลมีเดีย พนักงานกองถ่ายฮอลลีวู้ดต่างแบ่งปันเรื่องราวทรมานใจของการทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมง รวมแล้วต้องทำงาน 70-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
บางคนถึงกับต้องรับการผ่าตัด “จากการทำงาน” เพื่อฟื้นฟูสภาพหลังและเข่าของตัวเอง หลายคนได้รับผลกระทบต่อชีวิตสมรส และหลายคนพลาดไม่ได้ไปร่วมงานแต่งงานหรืองานศพของคนสำคัญในชีวิต
ในอุตสาหกรรมบันเทิง คำว่า “Fraturdays” เป็นศัพท์เฉพาะของคนกอง หมายถึง สภาพการทำงานที่คนกองต้องไปถึงกองถ่ายตั้งแต่ 6 โมงเช้าวันจันทร์ และมีคิวออกกองวันศุกร์ที่เริ่มเอาตอนบ่ายแก่ๆ จากนั้นก็ทำงานยาวไปจนถึงวันเสาร์เช้า ซึ่งทำให้วันหยุดไม่สามารถไปทำอะไรได้เลยนอกจากนอนพัก
โธมัส พีซโกลอน ช่างมิกซ์เสียงรายหนึ่งที่ออกมาประท้วง ระบุว่าเขากำลังทำงานกับรายการมูลค่า 300 ล้านเหรียญรายการหนึ่งของสตรีมมิ่งแห่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เขาต้องทำงาน 9 ชั่วโมงติดต่อกันก่อนที่จะได้พักกินข้าวเที่ยง และมีครั้งหนึ่งที่เขาต้องทำงาน 18 ชั่วโมงในวันเดียว
ขณะที่เพื่อนร่วมงานชื่อ เจด ธอมป์สัน ซึ่งเป็นแผนกเครื่องแต่งกายของรายการเดียวกัน ถึงกับหลับในระหว่างขับรถกลับบ้าน โชคดีที่เธอไม่ได้รับอันตราย ปัญหาหลับในหลังชั่วโมงทำงานอันทรหดเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในหมู่คนกอง
“สตรีมมิ่ง” ขูดรีดคนกอง
อย่างไรก็ตาม การลงมติให้สไตรค์ ไม่จำเป็นต้องมีการสไตรค์จริงๆ ทันที คนกองหลายคนกล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า พวกเขายังหวังว่าสหภาพแรงงานจะนำการโหวตนี้ไปใช้เจรจาต่อรองเพื่อรับดีลที่ดีกว่าได้สำเร็จ
ครั้งสุดท้ายที่ฮอลลีวู้ดเคยปั่นป่วนเพราะปัญหาการประท้วงของแรงงานคือเมื่อช่วงปี 2007-2008 โดยกลุ่มมือเขียนบทรวมตัวกันสไตรค์ AMPTP และด้วยเหตุใกล้เคียงกันคือต้องการขึ้นค่าแรง ครั้งนั้นกลุ่มนักเขียนสไตรค์หยุดงานกันมากกว่า 100 วัน และทำให้หนัง ซีรีส์ หลายๆ เจ้าต้องเลื่อนวันฉายออกไปเพราะเหตุนี้
ดูเหมือนว่าครั้งนี้เป้าหมายความขุ่นเคืองจะอยู่ที่สตรีมมิ่งยักษ์ทั้ง Amazon และ Netflix ซึ่งสหภาพแรงงานมองว่ากำลังเอาเปรียบการทำงานของพวกเขา
“บริษัทสตรีมมิ่งเหมือนได้ส่วนลดจากการใช้แรงงานพวกเรา” ลิซ่า คลาร์ก ฝ่ายตกแต่งฉาก กล่าว “เราสมควรได้ส่วนแบ่งที่ยุติธรรมจากกำไรของบริษัท เราควรจะได้รับค่าจ้างอย่างน้อยเท่าๆ กับที่เราเคยได้เมื่อครั้งทำงานให้กับเครือข่ายโทรทัศน์”
บริการสตรีมมิ่งกำลังบีบให้คนทำงานทุ่มเวลาให้งานเสร็จในระยะสั้นๆ คลาร์กกล่าวเปรียบเทียบว่า เธอมีเวลาแค่ 10 สัปดาห์ในการเตรียมฉากถ่ายทำเป็นร้อยๆ ฉาก จากปกติปริมาณงานขนาดนี้ต้องใช้เวลาเตรียมตั้ง 6 เดือน “เป็นคำขอที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย” คลาร์กกล่าว