‘Instagram’ อัปเดต 6 ฟีเจอร์ใหม่ หวังช่วยลดปัญหา ‘สุขภาพจิต’

ประเด็นสุขภาพจิตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตส่วนตัว ด้านความสัมพันธ์ ด้านการทำงาน และด้านการเรียนรู้ ซึ่งการใช้งานโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นดาบ 2 คม หากเราไม่ตระหนักรู้และไม่ดูแลสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม ก็จะเกิดผลกระทบตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดตอนนี้ ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น

โดยใน Instagram ได้อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยประเด็นด้านสุขภาพจิต ได้แก่

  • การซ่อนยอดไลก์ Instagram มอบทางเลือกให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้ผู้อื่นเห็นยอดไลก์บนโพสต์ของพวกเขาหรือไม่ และยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการเห็นยอดไลก์บน Instagram หรือไม่
  • การควบคุมด้านการส่งข้อความและการมีปฏิสัมพันธ์ การตั้งค่าที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าต้องการอนุญาตให้ทุกคน ไม่อนุญาตใครเลย หรืออนุญาตเฉพาะผู้คนที่พวกเขาติดตาม ให้สามารถส่งข้อความ แท็ก หรือกล่าวถึงพวกเขาในช่องแสดงความคิดเห็น คำบรรยายใต้ภาพ Stories หรือการส่งข้อความตรง
  • จำกัด Instagram ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้รังแก (bullies) สามารถมองเห็นหรือเข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาของผู้ใช้ได้ โดยที่ผู้รังแกจะไม่ได้รับการแจ้งเตือน
  • ลิมิต Instagram ช่วยให้ผู้คนสามารถซ่อนความคิดเห็นและคำขอในการส่งข้อความตรงโดยอัตโนมัติ จากผู้คนที่ไม่ได้ติดตามหรือผู้คนที่เพิ่งเริ่มติดตามพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา
  • การควบคุมเนื้อหาที่มีความอ่อนไหว ผู้คนสามารถเลือกเนื้อหาที่พวกเขาเห็นในหน้า Instagram Explore ได้ตามความต้องการของตัวเอง จากการมอบทางเลือกในการเห็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว (sensitive) จำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้ Instagram ยังกรองเนื้อหาบางประเภทออกจากหน้า Explore ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว หรือสร้างความขุ่นเคือง (offensive) และผู้ใช้วัยรุ่นจะเลือกเห็นเนื้อหาประเภทนี้ในจำนวนน้อยลงได้อย่างเดียวเท่านั้น
  • การเตือน (Nudges) นอกจากนี้ Instagram กำลังพัฒนาฟีเจอร์ที่สนับสนุนให้ผู้คนหยุดพักและไตร่ตรองว่าเนื้อหาประเภทไหนที่พวกเขาต้องการรับชม และหวังที่จะช่วยเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจและยกระดับจิตใจของพวกเขา

นอกจากนี้ Instagram ยังเปิดตัว Instagram Guides ฟีเจอร์เพื่อช่วยให้การค้นพบคำแนะนำ เคล็ดลับ และเนื้อหาอื่น ๆ จากครีเอเตอร์ บุคคลสาธารณะ องค์กร และผู้ผลิตเนื้อหา (publishers) บน Instagram เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น โดยการเข้าดูไกด์ต่าง ๆ คุณสามารถไปที่หน้าโปรไฟล์ของ โนอิ้งมายด์ อูก้า และ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย จากนั้นกดไปที่ปุ่มไอคอนไกด์เพื่อรับชมไกด์ของพวกเขา

โดยในขณะเยี่ยมชมไกด์ ผู้ใช้จะเห็นโพสต์และวิดีโอต่าง ๆ ที่ครีเอเตอร์ได้เลือกสรรมาจัดแสดง ซึ่งจะถูกจับคู่กับเคล็ดลับและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ คุณยังสามารถแชร์ไกด์เหล่านี้ไปยัง Instagram Stories หรือส่งเป็นข้อความ (Direct) ด้วยการกดปุ่มแชร์ที่ด้านขวาบน

ที่ผ่านมา ประเด็นด้านสุขภาพจิตมีการพูดถึงในมุมมองที่กว้างขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยมีผู้คนจำนวนกว่า 200,000 คน เป็นสมาชิกในกลุ่มบน Facebook ราว 2,000 กลุ่ม ที่มีวัตถุประสงค์ในการ ให้ความช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตยังผลักดันให้เกิดพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์บน Instagram เป็นจำนวนกว่า 2.2 ล้านครั้ง ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

สื่อแฉ ‘Facebook’ ศึกษาผลด้านลบของ ‘Instagram’ ต่อวัยรุ่นกว่า 3 ปีแต่ไม่เปิดเผย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คนไทยจำนวนกว่า 3.3 ล้านคน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความคิดอยากฆ่าตัวตาย และจากผลการศึกษาขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ประจำปี 2563 พบว่า 7 ใน 10 ของเด็กและเยาวชนชาวไทย ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความทุกข์ และความวิตกกังวล จากความไม่แน่นอนทางด้านการเงินและโอกาสในการถูกจ้างงานในอนาคต