“แอสเสท เวิรด์” เดินหน้า 3 โครงการ “แลนด์มาร์ก” เอเชียทีค-อควอทิค-เวิ้งนครเขษม

“แอสเสท เวิรด์” ครบรอบ 2 ปีเปิด IPO ประกาศเดินหน้าลงทุนโครงการระดับ “แลนด์มาร์ก” 3 แห่ง ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, อควอทิค ดิสทริค พัทยา และ เวิ้งนครเขษม ด้านธุรกิจโรงแรมฟื้นตัว คาดอัตราเข้าพักแตะ 30% ช่วงไตรมาสสุดท้าย ปีนี้ต่างชาติยังกลับเข้ามาช้า ชี้เทรนด์ “Workation” บูมจัด ลูกค้าอยู่ยาว 1 เดือน

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ประกาศเดินหน้าการลงทุนใน 3 โครงการด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็น “แลนด์มาร์ก” สำคัญของบริษัทในรอบ 5 ปีข้างหน้า ได้แก่

  1. เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (เฟสใหม่) (ยังไม่ระบุเงินลงทุน)
  2. อควอทิค ดิสทริค พัทยา (ยังไม่ระบุเงินลงทุน) (*ข้อมูลเดิมคาดว่าจะลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท)
  3. เวิ้งนครเขษม มูลค่าการลงทุน 16,000 ล้านบาท

 

“เอเชียทีค” ดึงผู้ออกแบบ Burj Khalifa ร่วมงาน

รายละเอียดของแต่ละโครงการ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” วางคอนเซ็ปต์ต้องการให้เป็นแลนด์มาร์กระดับ “ไอคอนิค” ของเมืองไทย จะมีโซนค้าปลีกใหม่ สำนักงาน โรงแรม และเรสซิเดนซ์ ซึ่งเซ็นสัญญาแล้วกับแบรนด์เชนโรงแรมชั้นนำ คือ ริทซ์ คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, เจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ และริทซ์ คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์

ภาพเบื้องต้นของโครงการเอเชียทีค เฟสใหม่ ด้านล่างเป็นภาพร่างของอาคารไอคอนิกแห่งใหม่ในโครงการ

นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมงานกับ “เอเดรียน สมิธ” ผู้ออกแบบตึก Burj Khalifa ดูไบ เพื่อสร้างอาคารไอคอนิกให้กับเอเชียทีค ปักหมุดเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการออกแบบ ส่วนแรกของโครงการคือโซนค้าปลีกจะเปิดตัวก่อนในปี 2567 และทั้งโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ราวปี 2573

 

“อควอทิค” ดึงสวนสนุกเลโก้แลนด์เป็นแม่เหล็ก

ภาพเบื้องต้นของส่วนต่างๆ ในโครงการอควอทิค ดิสทริค พัทยา

ถัดมาที่โครงการ “อควอทิค ดิสทริค พัทยา” จะเป็นมิกซ์ยูสใหม่ในพัทยา ติดหน้าหาด บริเวณพัทยากลาง แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ส่วน คือ

  • ส่วนที่ 1 ธุรกิจเวลเนสและการประชุมสัมมนา (MICE) ดึงแบรนด์ร่วมงาน ได้แก่ แมริออท มาร์คีส์, เจดับบลิว แมริออท, เจดับบลิว แมริออท แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์, ชีวาศรม และบำรุงราษฎร์
  • ส่วนที่ 2 โรงแรม “เดอะ วีนแยทท์ คอลเล็กชั่น” เน้นการพักผ่อนในโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ (ส่วนนี้จะเริ่มเปิดปี 2567)
  • ส่วนที่ 3 โรงแรม “คิมป์ตัน” และ ที่พักอาศัย “คิมป์ตัน แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์” เน้นพื้นที่สีเขียว ร้านอาหาร บาร์ และคอมมูนิตี้ มอลล์แบบ open-air ที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง
  • ส่วนที่ 4 ธุรกิจด้านการกีฬา ผจญภัย สวนสนุก จะมีสวนสนุกแบบในร่ม “อควอเรีย” และ “เลโก้แลนด์” พร้อมด้วยโรงแรม “แมริออท ออโต้กราฟ คอลเล็กชัน”

 

“เวิ้งนครเขษม” ตั้งเป้าแลนด์มาร์กใหม่เยาวราช

โครงการนี้น่าจะเป็นโครงการที่ชาวไทยจับตามองอย่างมาก เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเก่าและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ โดย AWC เปิดแผนมาแล้วเบื้องต้นว่าจะเป็นมิกซ์ยูสที่มีทั้งโรงแรม ที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร และมีเจดีย์ทองคำ 8 ชั้นเป็นแลนด์มาร์กของที่นี่

ภาพเบื้องต้นการพัฒนาโครงการบริเวณเวิ้งนาครเขษม (Photo : IHG)

“เราจะทำให้เวิ้งนครเขษมกลับมาเป็นแลนด์มาร์กความรุ่งเรืองของเยาวราช และเราจะเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามา มีการจัดเทศกาลต่างๆ ได้ เป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับพื้นที่โดยรอบ แน่นอนว่าจะมีที่จอดรถขนาดใหญ่ด้วย เพราะต้องตอบโจทย์คนที่มาเที่ยวเยาวราช” วัลลภากล่าว

โครงการจะเริ่มเปิดตัวปี 2566 ขณะนี้มีเชนโรงแรมที่เซ็นสัญญากันแล้วคือ อินเตอร์คอนติเนนตัล และอีกแห่งหนึ่งจะเป็นแบรนด์บูติกโฮเทลในเครือ IHG

ภาพจำลองอีกมุมหนึ่งของเวิ้งนครเขษม (Photo : AWC)

ไม่เฉพาะการสร้างแลนด์มาร์กใหม่ แอสเสท เวิรด์ จะมีการรีโนเวตใหญ่และปรับตำแหน่งทางการตลาดของธุรกิจรีเทลเดิมหลายแห่ง ทั้งแบรนด์เกตเวย์ ตะวันนา ลาซาลล์อเวนิว เอเชียทีค จะมีการปรับปรุงให้ศูนย์การค้าเหมาะกับการมาใช้ชีวิต เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ มากกว่ามาช้อปปิ้งเท่านั้น สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค

 

โรงแรมฟื้นไวขึ้น คาด Q4 แตะ 30%

สำหรับสถานการณ์ระยะสั้นและระยะกลางของธุรกิจโรงแรมซึ่งถือเป็น 50% ของพอร์ต AWC และเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก COVID-19 วัลลภาเปรียบเทียบสถานการณ์ก่อนว่า หลังคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา อัตราเข้าพักโรงแรมกลับมาแทบจะในทันที เมื่อเทียบกับหลังคลายล็อกดาวน์ระลอกแรกเมื่อปีก่อนซึ่งลูกค้าจะกลับมาอย่างช้าๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกว่าที่นักท่องเที่ยวไทยจะเป็นปกติ

ทำให้เดือนกันยายน โรงแรมในเครือ AWC มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 16% เดือนตุลาคมนี้คาดว่าจะขึ้นมาเป็น 20% และตลอดไตรมาส 4 นี้เชื่อว่าจะได้อัตราเข้าพักอย่างน้อย 30%

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC

อัตราดังกล่าวมองในกรณีคนไทยท่องเที่ยวกันเป็นปกติ มีกิจกรรมทีมบิลดิ้งของบริษัทองค์กรต่างๆ และมีกลุ่ม Workation เข้าพักเป็นระยะเวลานาน ส่วนตลาด MICE น่าจะยังไม่กลับมาในปีนี้เพราะการจัดประชุมสัมมนาต้องใช้เวลาวางแผนงาน

เหตุที่ยังไม่มองกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นสัดส่วนใหญ่ แม้ว่าไทยมีแผนเปิดประเทศหลายจังหวัดวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

วัลลภามองสถานการณ์นี้ว่า ลูกค้าต่างชาติจะพิจารณาความสะดวกในการกักตัวก่อน ยกตัวอย่างภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ถึงจะไม่ต้องกักตัวอยู่แต่ในห้อง แต่ไม่สามารถออกนอกจังหวัดได้ ทำให้มากกว่า 50% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าโครงการจะเป็นกลุ่มมีความจำเป็น เช่น เยี่ยมญาติ เยี่ยมสามีภรรยา ดังนั้น ถ้าหากยังต้องมีการกักตัวใดๆ ลูกค้าต่างชาติน่าจะกลับมาช้า

 

“Workation” เทรนด์นี้น่าจะอยู่ยาว

กระแสการพักโรงแรมอย่างหนึ่งที่แอสเสท เวิรด์สนใจและจะมีการปรับตัวตามคือ “Workation” วัลลภากล่าวว่า เทรนด์นี้เป็นกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้ยอดเข้าพักประมาณ 20% ของบริษัทมาจากลูกค้า Workation จากเมื่อก่อนอาจจะมีแค่ 2-3% เท่านั้น และลูกค้าอยู่ยาวขึ้นต่อรอบ จากเดิมประมาณ 1 สัปดาห์ ปัจจุบันอยู่กันยาว 1 เดือน

ทำให้อนาคตแอสเสท เวิรด์จะมีการปรับโรงแรมให้มีบางยูนิตที่รองรับกลุ่ม Workation โดยเฉพาะ เช่น มีครัวในห้อง จัดพื้นที่ห้องทำงานหรือโซนทำงานขนาดใหญ่

แผนงานของ AWC ทั้งการเดินหน้าสร้างโครงการการท่องเที่ยวใหม่ๆ การรีโนเวตกลุ่มค้าปลีก และการปรับโรงแรมให้สอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภคอนาคต สะท้อนให้เห็นความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 โดยวัลลภาเชื่อว่ารายได้ประจำไตรมาสของแอสเสท เวิรด์จะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ราวไตรมาส 3/2565